วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2551

แนะนำตัว " krshnayoga "




ชีวิตคนเราไม่แน่นอน วันนี้เรามีความสุข แต่พรุ่งนี้อาจมีความทุกข์ก็ได้ สิ่งที่เราเข้าใจอย่างหนึ่ง คือเวลาของชีวิตที่เหลืออยู่น้อยลงทุกวัน



ชีวิตคนเราไม่ได้ยืนยาวนานเป็นร้อยปีครับ
แม้การแพทย์ในปัจจุบันมีความก้าวหน้า และอาจสามารถช่วยชีวิตมนุษย์ให้ยืนยาวขึ้นมากกว่าเดิมได้ แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่มีอะไรเป็นสิ่งยืนยันว่า เราจะมีสุขภาพที่ดีและสมบูรณ์มีชีวิตยืนยาวได้ตลอดไป
ที่เรากล่าวมา เป็นเพียงส่วนประกอบของชีวิต ซึ่งเป็นมุมมองของเรา

บล็อกนี้ เราตั้งใจว่า จะเขียนถึงเรื่องการดูแลสุขภาพลักษณะของ"ธรรมชาติบำบัด" โดยพูดถึงสิ่งที่เราปฏิบัติ คือการสร้างความสมดุลของร่างกายและใจ ซึ่งอาจมีหลายวิธี หนึ่งในวิธีการต่างๆนั้น การฝึกโยคะเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้ความเคลื่อนไหวมากำหนดความแน่วนิ่งจิตใจ โยคะจึงเป็นอีกหนึ่งของธรรมชาติบำบัดที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรมากมาย และเป็นศาสตร์ขั้นแรกของการทำใจให้สงบ ส่วนเรื่องอื่น เช่นเรื่องของศิลปะ หรือดนตรี ที่มีส่วนในการผ่อนคลายสมอง ร่างกายและจิตใจ จะมีปะปนบ้างเป็นครั้งคราว เพื่อไม่ให้บล็อกอ่านแล้วน่าเบื่อเกินไป

ก่อนอื่น ขอแนะนำเล็กน้อยว่า โยคะเป็นศาสตร์เก่าแก่ของอินเดีย แรกเริ่ม ผู้ฝึกโยคะคือนักบวชที่บำเพ็ญเพียร การนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน การฝึกโยคะเป็นหนทางหนึ่งที่สามารถแก้ไขต้นเหตุของอาการปวดเมื่อยต่างๆ คือทำให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย และออกกำลังกล้ามเนื้อไปด้วย ส่วนรายละเอียดและที่มาของโยคะ สามารถหาอ่านได้ทั่วไปครับ เพราะมีคนเขียนไว้มากมายจริงๆ
โยคะ เป็นศาสตร์ที่มีความเก่าแก่มากศาสตร์หนึ่งของชาวตะวันออก ในปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมแพร่หลายในซีกโลกตะวันตก และขณะเดียวกันได้มีการวิเคราะห์ศึกษาโยคะด้วยหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ พร้อมๆกับความสงสัยเป็นอย่างมากที่โยคีในสมัยโบราณมีความเข้าใจในกลไกทางสรีรวิทยาเป็นอย่างดี ซึ่งบางเรื่องวงการแพทย์สมัยใหม่เองก็พึ่งจะค้นพบ และบางเรื่องก็ยังไม่สามารถหาคำตอบได้อย่างชัดเจนแม้ในเวลาปัจจุบัน
สำหรับคำถามว่า เรา "เป็นใคร และมาจากไหน"เราคงของดการตอบคำถามนี้ ส่วนคนที่ถามว่าเล่นโยคะแล้วได้อะไร รู้สึกดี หายจากอาการต่างๆ ปวดหัว ปวดไมเกรน หรือเพราะชอบเป็นการส่วนตัว เราเองคงตอบในครั้งเดียวหมดทุกอย่างไม่ได้ แต่อยากให้ทุกคนลองสัมผัสโยคะ สักครั้งหนึ่งในชีวิต

หากคุณสนใจ ลองอ่านสิ่งที่เราเขียนดูนะครับ และถ้าไม่สามารถไปเรียนหรือฝึกฝนจากที่ไหน ก็ลองทำตามที่เราแนะนำในบล็อกนี้ เพราะอาจมีบางท่าทางที่เหมาะสมกับแต่ละคน และสามารถฝึกได้เองที่บ้าน เพียงแต่ต้องอ่านสักสองหรือสามรอบ แล้วลองทำตามที่เราแนะนำ และถ้ามีปัญหาหรือข้อสงสัยอะไร สอบถามเราได้ตลอดเวลา ตามอีเมล์หรือเบอร์โทรศัพท์ที่ให้ไว้ในนี้ ด้วยความยินดีครับ
เนื่องจากทุกคนมีสิทธิ์ในการมาเยี่ยมชมเหมือนกัน ลองมาแลกเปลี่ยนความคิดกันบ้างนะครับ
...
ขอเล่าต่อ
ความคิดเริ่มต้นคือ เราจะทำ blog นี้ไว้ให้คนที่มาฝึกโยคะกับเราเข้ามาดู ซึ่งในนี้อาจมีเรื่องทั่วไปบ้าง
แต่หลังจากกลับมาอ่านทบทวนเลยเกิดความคิดเพิ่มเติมหลายอย่าง เลยใช้วิธี เขียนไปปรับปรุงไป
และใครก็ได้ที่สนใจ มีสิทธิ์จะอ่านและพูดคุยกันน่าจะดีกว่า
...
และขอไม่ตอบว่าเราฝึกโยคะด้วยจุดมุ่งหมายอะไร

สำหรับผู้สนใจทั่วไป รวมถึงคนที่มาฝึกโยคะกับเรา

เราคิดว่าค่อนข้างน่าสนใจ
ลองอ่าน"ความคิดเห็นเกี่ยวกับโยคะ (ของเรา)"ดูบ้าง

- โยคะ ไม่ใช่แฟชั่น มีหลายคนเรียนโยคะเพราะเคยได้ยินจากคำบอกเล่าต่างๆ เช่นเรื่องเกี่ยวกับ การเล่นโยคะร้อน การเล่นโยคะช่วยให้ดูดีมีรสนิยม หรือทันสมัย,นำ้หนักลด เลยอยากฝึกโยคะเพื่อจะได้ไม่อ้วน
- จากประสบการณ์ที่อาจไม่มากนัก สังเกตได้ว่า คนที่มาเรียนกับเรา ถ้าดูจากสีหน้า แววตาและท่าทางของเขา ว่ารักการฝึกและเล่นโยคะแค่ไหน ซึ่งถ้าเราไม่รักและไม่มีความเพียร ความอดทน เราก็ไม่สามารถฝึกได้เป็นเวลานาน ท้ายที่สุดก็ต้องเลิกไป

** สิ่งสำคัญมากๆ เวลาฝึกโยคะ อย่าคาดหวังและรีบร้อนทำท่า(อาสนะ)ต่างๆให้ได้เหมือนกับคนอื่น เพราะจะทำให้เครียด ควรฝึกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ลองมองว่า เราทุกคนมีทุนของชีวิตมาไม่เหมือนกัน ร่างกายแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน บางท่าทางเราอาจฝึกฝนได้เลยในเวลาอันรวดเร็ว และบางท่าเราอาจต้องใช้เวลาในการฝึกนานก็อาจเป็นไปได้ ความเพียรพยายามก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ผู้คิดฝึกโยคะน่าจะมี
- ครูสอนโยคะคนแรกของเราเคยบอกว่า ใครก็ตาม หากได้ฝึกโยคะด้วยความตั้งใจแล้ว ถ้ามีเหตุอะไรให้เลิกฝึกไป ในไม่ช้าวันหนึ่งจะได้กลับมาเล่นอีก สิ่งนี้เราเชื่อ เพราะประสบมาด้วยตนเอง
- โยคะช่วยในการรักษาโรคได้หรือเปล่าไม่รู้ แต่เรารู้ว่า เมื่อฝึกโยคะได้ระยะหนึ่ง ระบบการทำงานและส่วนต่างๆของร่างกายจะสมดุลขึ้น เลือดจะไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายและสมองได้ดีขึ้น อาการมึนงงเวียนหัว และปวดหัวต่างๆที่เราเคยเป็นลดน้อยลง ส่วนกรณีของคนที่เป็นไมเกรนซึ่งมีอาการจากแนวกระดูกสันหลังที่ไม่ได้รูป หรือเส้นประสาทที่อยู่รอบๆมีปัญหา โยคะก็มีส่วนช่วยในการบำบัดอาการต่างๆเหล่านี้ได้เช่นกัน
- เราไม่บอกคนที่มาฝึกด้วยกันกับเราว่าโยคะจะช่วยลดความอ้วนได้ หรือการเสียเหงื่อจะทำให้ผอมลง หรือรักษาโรคต่างๆ แม้ว่าส่วนหนึ่งของคนที่มาฝึกจะมีสัดส่วนและรูปร่างที่ดีสมส่วนขึ้น ก็ยังไม่สามารถสรุปว่าโยคะจะช่วยเรื่องต่างๆเหล่านี้ เพราะอาจขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง รวมไปถึงอาหารที่รับประทาน และวิถีชีวิตของแต่ละคนด้วยเช่นกัน
...ที่ต้องพูดถึงเรื่องวิถีชีวิต เพราะคนส่วนมากใช้ชีวิตและหมดเวลาไปกับอาหารอร่อยๆ ซึ่งบางอย่างไม่มีประโยชน์โดยตรงกับร่างกาย แต่จะไปสะสมตามส่วนต่างๆ ในรูปแบบของไขมันสะสม เช่นอาหารฟาสท์ฟู้ดบางประเภท ขนมหวานและของขบเคี้ยว

รูปแบบการใช้ชีวิตที่ยกตัวอย่างมาอาจแตกต่างจากเรา และคนอีกหลายคน ที่แตกต่างเพราะหลายคน และเราไม่ทานเนื้อสัตว์ ไม่ดื่มแอลกอฮอลล์ และบุหรี่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คงช่วยเรื่องเสริมสร้างสุขภาพของเราในระดับหนึ่ง

- เรามีโอกาสได้ไปเรียนโยคะเพิ่มเติมจากโรงเรียนโยคะเล็กๆแห่งหนึ่งในอินเดีย และมีความตั้งใจว่าอยากกลับมาสอนให้กับคนทั่วไป

- โชคดีที่เราได้สอนโยคะให้กับคนที่นี่ แม้เราจะไม่เก่งอะไรมากมายนัก และมีคนมาเรียนกับเราไม่กี่คน แต่เราคิดว่า ทุกคนที่มาฝึกโยคะกับเรามีความสุข และสุขภาพดีขึ้น

***สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
ขอเน้นเป็นตัวหนังสือสีแดงครับ คนเล่นและฝึกโยคะควรจะ "มีวินัยในตนเอง" ครับ เพราะวินัยเป็นส่วนช่วยให้การฝึกโยคะประสบความสำเร็จ ลองอ่านประสบการณ์บางอย่างที่เราเล่าให้ฟังดูนะครับ

เมื่อเราคิดจะกลับมาฝึกโยคะอีกครั้ง หลังจากที่หยุดไปประมาณ 1 ปี เรากลับไปหาอาจารย์คนแรกที่เคยสอนและแนะนำให้เรารู้จักโยคะ อยากกลับมาฝึกโยคะอีกครั้งหนึ่ง แต่อาจารย์บอกเราเพียงว่าให้เราฝึกเล่นเอง เพราะสิ่งที่เราเคยเรียนมาสามารถฝึกต่อเนื่องได้ เพียงแต่ต้องใช้ความพยายามมากกว่าเดิม
เรากลับมาพยายามฝึกด้วยตัวเอง เปิดหนังสือเก่าๆดู และพยายามมากกว่าเดิม สัปดาห์แรกๆ เราทำไม่สำเร็จ จนวันหนึ่งคิดว่า "ถ้าไม่เริ่มที่ตัวเรา อย่างไรก็ไม่มีวันสำเร็จ"
เราพยายามเปลี่ยนวิถีชีวิต นอนคำ่ ตื่นเช้าเพื่อฝึกโยคะ โดยใช้นาฬิกาปลุก เริ่มจากวันละไม่กี่นาที จนวันหนึ่ง เราสามารถเล่นได้ถึงรอบละชั่วโมงครึ่ง ทั้งเช้าและเย็น
ทุกวันนี้เราไม่ได้เล่นนานๆแบบเมื่อก่อน แต่การฝึกแต่ละครั้ง จะค้นคว้าและทดลองด้วยตัวเองก่อนว่า ท่าแต่ละท่ามีหลักในการฝึกอย่างไร หายใจเข้าออกแบบไหน เวลาในการฝึกควรเป็นอย่างไร ฯลฯ เพราะต้องไปแนะนำให้คนที่มาเรียน และเราก็ต้องทำการบ้านด้วยการค้นคว้าเพิ่มเติม
ที่เล่ามาเพราะสิ่งสำคัญของคนที่ฝึกโยคะ คือวินัย จริงๆครับ ถึงเราจะบอกคนอื่นว่า เราฝึกโยคะทุกวัน แต่เราอาจไม่ได้เล่นเลย ก็คงไม่มีใครว่า แต่ในใจของเราจะรู้เอง ว่าเราเล่นหรือไม่เล่น และโกหกไปก็คงไม่มีอะไรดี เพราะ"ร่างกาย"ของเราจะบอกเองว่า เราให้ความสำคัญและคุณค่ากับสิ่งที่เราพูดออกไปแค่ไหน และหลายคนเลิกฝึกโยคะไปกลางคัน เพราะหมดความอดทนและพยายาม ซึ่งอาจเป็นเหตุผลส่วนตัวของแต่ละคน
ที่เล่ามาเพราะอยากให้ทุกคนที่ตั้งใจไม่ท้อไปก่อนนะครับ

เชื่อมั่นในตัวเราเองก่อนจะเชื่อมั่นคนอื่นครับ

- เราไม่ได้สอนที่ฟิตเนส เรามีที่สอนของเราเอง และรับสอนทั่วไปตามบ้านหรือที่ทำงาน
มีแกรมทั่วไปและสอนชาวต่างชาติ ความคืบหน้าเราจะแจ้งอีกครั้ง
- เราไม่ได้สอนโยคะร้อน หรือโยคะเย็น มีแต่ "โยคะ" ล้วนๆ สอนตามแบบโรงเรียนในอินเดียที่เราเรียนมา ปรับให้เหมาะสม เนื่องจากท่าโยคะมีมากมาย การฝึกแต่ละครั้งจะพยายามปรับเพิ่มและลดท่าทางการฝึก ต่างๆสลับหมุนเวียนไป
และโปรดงดอาหารก่อนฝึกประมาณสองชม (***สำคัญมาก)

***คุณไม่จำเป็นต้องเชื่อสิ่งที่เราเขียนมาทั้งหมด เลือกเชื่อในสิ่งที่คุณเชื่อและชอบครับ


ขณะนี้เรากำลังทำหนังสือโยคะ เพื่อใช้เป็นแบบฝึกทั่วไป หากสนใจสอบถามได้เช่นกัน
สนใจเรื่องโยคะสอบถามที่ ya_nathip@hotmail.com / ya_yoga@ymail.com
ต่างจังหวัดกรุณาติดต่อเราล่วงหน้าครับ
ด้วยความยินดีครับ


*** ภาพถ่ายทั้งหมดในบล็อกนี้
- ภาพที่เป็นรูปเราเอง ใช้คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คถ่ายครับ อาจมีบางภาพ เราใช้กล้องฟิล์ม และดิจิตอล ถ่ายโดยใช้ระบบการตั้งเวลาและสายลั่นชัตเตอร์ ครับ
- ส่วนภาพการฝึกที่มีหลายคน ถ่ายโดยคุณ กิตติศักดิ์ ทวีกิจภิญโญ ครับ
- ภาพประกอบบางภาพและคลิปได้จากกูเกิ้ล และยูทิวบ์ ครับ
- ภาพวาด เราวาดเองครับ
- หนังสือประกอบ
- Anatomy of Hatha Yoga
- Yoga asana
- Biological Clock
- Yoga Anatomy
- YOGA simplified
- พลังชีวิตรักษาตนเอง
- บริหารกายรักษาโรค
- นำ้พุแห่งดรุณภาพ
- yoga journal
- ภควัทคีตา (ฉบับเดิม)
- หนังสือชุด สุขภาพองค์รวม โดยกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค และเภสัชสาธารณสุข
- นอนไม่หลับ รักษาด้วยธรรมชาติบำบัด
- BREATH OF LIFE : Breathing for Health, Vitality and Meditation

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ31 มกราคม 2552 เวลา 02:04

    ขอบคุณมากครับ สำหรับบทความดีๆ

    ตอบลบ