วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2552

art of relaxation


ปีหน้าที่กำลังจะมาถึง เราได้แต่คาดการณ์กันไปต่างๆว่าชีวิตในวันต่อไปหรือปีต่อไปจะต้องดีกว่าวันนี้
หลายคนยังคงอยู่กับความฝัน แต่"การฝัน" เหล่านั้น ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะเราทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิดและฝันกันได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพียงแต่ฝันดีหรือร้าย นั่นก็คงแล้วแต่โชคของแต่ละคน

ช่วงครึ่งปีหลังมานี้ การสอนโยคะของเราจะเน้นไปที่การกำหนดลมหายใจเป็นส่วนใหญ่ และเน้นการหายใจให้สัมพันธ์กับท่าฝึก เหตุผลที่ต้องเน้นเรื่องนี้ เพราะการฝึกหายใจเป็นการสร้างสมาธิในระดับพื้นฐานที่สำคัญมากครับ


การพักหลังจากการฝึกโยคะทุกครั้งเป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน เรามาลองศึกษาเรื่อง การนอนพักผ่อนกันดูบ้าง

หากเราสังเกตุเด็กทารกขณะที่นอนหลับ จะเห็นว่าเด็กทิ้งนำ้หนักตัวทั้งหมดลงบนที่นอนโดยไม่มีการเกร็งกล้ามเนื้อส่วนใดเลย
กรณีเดียวกัน ชนเผ่าเร่ร่อนที่มีการเดินทางตลอดเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน เมื่อเดินทางถึงแหล่งพักอาศัย ที่มีแหล่งนำ้อยู่ใกล้ คนเหล่านั้นก็จะทิ้งตัวลงนอนบนพื้น และวางแขนขาไว้ข้างตัว เสมือนคนที่ปราศจากชีวิต ซึ่งอาการดังกล่าวจะเห็นได้ค่อนข้างชัด ซึ่งการพักแบบนี้ 1 ชม. ทำให้ร่างกายของเขามีความสดชื่นขึ้นมากเท่ากับที่คนปกติทั่วไปพักเป็นเวลายาวนานตลอดทั้งคืน ซึ่งชนเผ่าเหล่านี้สามารถเดินทางได้เป็นระยะเวลายาวนานและไกลได้อย่างมาก ทั้งๆที่มีช่วงเวลาพักผ่อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
จะเห็นได้ว่า ทารกและชนเผ่าที่เรามองว่าล้าหลัง ไม่ได้หลงลืมศิลปะแห่งการพักผ่อนอย่างแท้จริง เพราะพวกเขามีความสามารถที่จะพักผ่อนได้อย่างเต็มที่และสมบูรณ์ ซึ่งแตกต่างจากคนในเมืองใหญ่ และเมื่อคนเหล่านี้ต้องการพัก เขาจะพักผ่อนอย่างเต็มที่และค่อนข้างลึกซึ้ง ซึ่งส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่อัตราการเต้นและความตึงเครียดของหัวใจก็จะลดถอยลงไปด้วยเช่นเดียวกัน ศูนย์ประสาทที่ถูกใช้งานมากจนเกินไปจะได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาสดชื่นอีกครั้ง ขณะที่ความตึงเครียดของกล้ามเนื้อก็ลดระดับลงจนตำ่กว่าความเครียดขั้นพื้นฐาน พลังงานในร่างกายส่วนที่เหลือก็จะถูกผลิตขึ้นมาอย่างสมำ่เสมอ จากเซลล์ต่างๆภายในร่างกาย และสะสมเพื่อความต้องการที่จะนำออกมาใช้ได้ในอนาคต นอกจากนี้ อารมณ์ปั่นป่วนและความวิตกกังวลต่างๆก็จะหายไปจากจิตใจของเราด้วยเช่นเดียวกัน
หลายคนอ่านแล้วอาจสงสัย แต่จากการค้นคว้าหาข้อมูลที่พบมา การพักผ่อนอย่างแท้จริงที่กล่าวมานี้ มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยโบราณ ผู้ปฏิบัติโยคะในอินเดียสมัยโบราณได้เฝ้าดูพฤติกรรมการหลับนอนของบรรดาสัตว์ต่างๆ ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ต้องการวันหยุดพักผ่อนในแบบที่คนในสังคมเมืองปฏิบัติ ผู้ฝึกโยคะในระดับสูงจะสามารถควบคุมตนเองให้อยู่ในระดับที่ผ่อนคลายอย่างแท้จริง โดยการควบคุมสติและจิตใจให้ผ่อนคลายได้อย่างรวดเร็ว
ในภาษาทางการแพทย์จะเรียกกลไกนี้ว่า สมรรถนะในการสะกดยับยั้งการทำงานของกลไกประสาทรับสัมผัสซึ่งสามารถเป็นไปได้ในผู้ที่มีสมาธิในระดับสูงและผ่าการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี
ตัวอย่างที่กล่าวมา อาจเปรียบเทียบได้กับพนักงานรับโทรศัพท์ คือเมื่อต้องการหยุดพัก และไม่รับโทรศัพท์ก็ปิดสัญญาณรับโทรศัพท์นั่นเอง แม้ว่าสัญญาณที่ส่งมาจะยังคงมีอยู่ แต่เขาจะไม่ได้รับโทรศัพท์ซึ่งทำให้เขาได้พักผ่อนบ้างเป็นครั้งคราว เพื่อให้สมองได้ผ่อนคลาย
เช่นเดียวกับการนอนอย่างสมบูรณ์และรู้สึกตัว ผู้ฝึกโยคะ ( ทั้งในเบื้องต้น,ระดับสูง และโยคี)หากทำได้ จะสามารถเชื่อมโยงตนเองเข้ากับพลังปราณและการหายใจเข้า ออกที่สมบูรณ์ได้ ร่างกายจะเหมือนกับแบตเตอรี่ที่ได้รับการชาร์จพลังอย่างเต็มที่
กรณีดังกล่าวมีการทดลองกับคนไข้ความดันโลหิตสูง 47 คน ให้ทดลองปฏิบัติอาศนะในท่าศพ วันละ 30 นาทีเวลา 40 สัปดาห์ ปรากฏว่า อาการโรคปวดศรีษะ วิงเวียนศรีษะ เส้นประสาท และอารมณ์โกรธฉุนเฉียวง่าย โรคนอนไม่หลับ ได้หายไปจากคนไข้แทบทุกคน (Datey K. Angiology 20 - 1969 )

วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ภาพ : Paschimottanasana A ทำ 5 ครั้ง (สูดลมหายใจเข้าออกลึกๆ)


ปีนี้กำลังจะหมดไป และกลายเป็นปีเก่า เรารอให้ปีใหม่มาถึงเร็วๆเพื่อจะได้เริ่มอะไรใหม่ๆ บางคนถึงกับบอกว่า ปีใหม่จะใส่ใจดูแลสุขภาพให้ดีกว่านี้ ?
ปัญหาด้านสุขภาพมักจะมาถึงตัวเราเร็วขนาดที่ว่าเฉียบพลัน โดยที่หลายคนไม่ทันตั้งตัว
และเมื่อถึงเวลานั้น สิ่งแรกที่เรานึกถึงคือ การไปหาหมอ เพื่อให้ช่วยบรรเทาหรือเยียวยาอาการต่างๆที่เกิดขึ้น
หลายคนหมดเงินทองไปกับการรักษาตัวเองเมื่อเจ็บป่วย อาชีพที่เราทำ บางครั้งก็ทำร้ายร่างกายคนเราทางอ้อมได้ หากขาดความพอดีและเหมาะสม

น้อยคนที่จะใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเราเองอย่างจริงจัง

หรืออาจเพราะสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ที่เราประสบกันอยู่ทุกวัน ก็อาจเป็นไปได้
หน้าที่การงาน และบทบาทต่างๆที่เราต้องปฏิบัติ

เราไปฝึกโยคะที่สวนรถไฟบ่อย และการไปแต่ละครั้ง แทบจะจำได้ว่า มีใครบ้างที่ไปออกกำลังหรือบริหารร่างกาย
ทั้งคนที่ไปปั่นจักรยาน คนที่วิ่ง หรือแม้แต่คุณตาคุณยายกลุ่มใหญ่ที่ไปรำไม้พลอง
เป็นภาพที่พบเห็นเป็นประจำ ส่วนวันหยุดเสาร์อาทิตย์ จะมีบางครอบครัวที่พากันมาเดินเล่นออกกำลังกาย

อย่างน้อย การใส่ใจสุขภาพแม้อาทิตย์ละวัน หรือ สองสามวันต่อครั้ง
เคยมีคนค้านว่า ไม่ได้มีเวลาว่างแบบเรา หรือต้องรีบไปทำงาน เลิกงานก็มืดคำ่ จะเอาเวลาที่ไหนไปทำแบบนั้นได้ ขืนไปสายบ่อยมีหวังได้ออกมาวิ่งหรือออกกำลังกายอย่างเดียวแน่ๆ
อาจไม่ใช่การไปวิ่ง ไปออกกำลังจนเหนื่อยหอบ

การเริ่มต้นด้วยการลดอาหารที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย ที่มีผลในการบั่นทอนสุขภาพ ก็เป็นอีกทางหนึ่ง
เพิ่มเมนูอาหารสุขภาพบ้างเล็กๆน้อยๆ
ซึ่งแต่ละคนก็จะมีเมนูอาหารต่างๆกัน

สิ่งที่เราทุกคนมีเท่ากันคือเวลา คนละ 24 ชม ในหนึ่งวัน

เราก็มีเวลาของเรา คุณก็มีของคุณ
สุดแท้แต่ว่า ใครจะจัดสรรเวลาที่มีอย่างไร
คงไม่มีใครบอกเราได้ดีเท่าตัวของเราเอง


วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2552

แกนของร่างกายมนุษย์ กับอาการปวดหลัง

แกนของร่างกายมนุษย์เราก็คือกระดูกสันหลัง ซึ่งประกอบไปด้วยกระดูกต่างๆที่มีหลายชิ้น กระดูกสันหลังเป็นส่วนที่รับนำ้หนักของร่างกาย และเป็นส่วนที่ช่วยในการทรงตัวขุ้นพื้นฐาน ช่วยในการเคลื่อนไหวร่างกายไปในทิศต่างๆเช่นเดียวกัน

ร่างกายของคนเราสามารถกำหนดท่าทางต่างๆในการยืนเดินนั่งนอนได้นับไม่ถ้วน แต่รูปแบบหลักที่สำคัญคือ ยืน นั่ง และนอน ซึ่งท่าทางต่างๆเหล่านี้ กระดูกสันหลังจะมีส่วนช่วยเป้นอย่างมาก โดยเฉพาะท่ายืนและท่านั่ง ซึ่งความสมดุลนี้ได้สอดคล้องกับกฏธรรมชาติและแรงโน้มถ่วง แต่หากเราโค้งตัวหรือโค้งโครงกระดูกสันหลังออกไป เท่ากับว่าเราได้เลื่อนเอาจุดศูนย์กลางของแรงโน้มถ่วงออกไปด้วย



และความสมดุลและการทรงตัวของเราจะอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงมาก แต่ร่างกายจะมีการปรับสมดุลดังกล่าว โดยกล้ามเนื้อรอบๆกระดูกสันหลังจะรับแรงกด ซึ่งจุดนี้เราจะพบว่า มีอาการปวดหลัง บางคนก็จะมีอาการดังกล่าวเสมอ
การทำให้โครงกระดูกและกระดูกสันหลังตั้งตรงในขณะยืนก็มีผลในทางจิตวิทยาด้วย เช่นคนที่เศร้าโศกมักจะเดินด้วยไหล่โค้งงอ และหลังไม่ตรง ทำให้กล้ามเนื้อที่อยู่รอบกระดูกสันหลังเจ็บปวดไปด้วย ซึ่งมีผลทำให้สภาพจิตทรุดหนักลงไปอีก