วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สุขภาพกายและใจ


สุขภาพกายและใจล้วนเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิต
   สังเกตุได้จาก ถ้าช่วงไหนที่จิตใจอ่อนแอ ท้อแท้หรือสิ้นหวัง ร่างกายเราก็จะทรุดโทรมด้วยทันที หรือในทางตรงข้าม ถ้าหากร่างกายเจ็บป่วยและอ่อนแอ จิตใจของเราก็จะท้อแท้ตามไปด้วยกัน
   อาการป่วยที่แพร่หลายในปัจจุบัน เช่น อาการอ่อนเพลียหรือเมื่อยล้าจากการใช้งานของร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งมากเกินไป เช่นการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆเป็นปีๆ อาการบางลักษณะเช่นตัวอย่างนี้เราสามารถรักษาหรือบรรเทาลงได้ด้วยการฝึกโยคะ เพราะหลักของโยคะที่แท้จริงคือการบริหารและกระตุ้นอวัยวะทั่วร่างกายให้มีความสมบูรณ์แข็งแรง และอวัยวะทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การฝึกโยคะอาจเรียกได้ว่าเป็นการทำกายภาพบำบัดที่ดีอีกวิธีหนึ่ง (แต่การฝึกสำหรับผู้ป่วยบางโรค อาจต้องผ่านการวินิจฉัยของแพทย์ก่อนว่า เหมาะสมกับผู้ฝึกหรือไม่ หรือควรเน้นฝึกในลักษณะใด )และช่วยในการปรับปรุงร่างกายส่วนที่บกพร่องให้มีความสมบูรณ์แข็งแรง ซึ่งถือเป็นวิธีการบำบัดร่างกายตามธรรมชาติอีกลักษณะหนึ่ง

วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

บริหารแขนและขา


บริหารแขน
- เหยียดแขนขวาตรงให้สุด อยู่ระดับเดียวกับไหล่ หงายฝ่ามือ หายใจเข้าช้าๆ ลึกๆ อย่างมีสมาธิ สงบจิตใจ ไม่คิดเรื่องอื่น
- งอแขน พับและใช้ปลายนิ้วแตะไหล่(ตามภาพ)ขณะที่แตะ หายใจออกช้าๆ เช่นเดียวกัน
- ทำ 3-5 ครั้ง และเปลี่ยนเป็นแขนซ้าย
บริหารขา
- นั่งตัวตรง หลังตรง เหยียดขาทั้งสองมาข้างหน้า
- งอเข่าขวา ยกขาขึ้นเล็กน้อย ประสานนิ้วมือไว้ใต้ต้นขาห่างจากข้อพับพอประมาณ (ตามภาพ) เหยียดขาตรง หายใจเข้าช้าๆ อย่างมีสมาธิ
- พับเข่าและใช้มือทั้งสองที่ประสานยกขึ้น ขณะเดียวกัน งอเข่าและลากเท้าชิดต้นขาช้าๆ หายใจออก
- ทำ 3-5 ครั้ง แล้วสลับเปลี่ยนอีกข้างหนึ่ง เช่นเดียวกัน
ท่าทั้งสองนี้เป็นท่าที่ดีสำหรับวอร์มและช่วยยืดแขนขาไม่ให้ตึงเกินไป อาจทำช่วงตื่นนอนใหม่ๆ หรือก่อนออกไปทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน  

ตัวอย่างการฝึกตอนเช้า 1

     ตัวอย่างนี้เราได้จากผู้ใหญ่ในครอบครัวและเราสอนเพิ่มเติม จะบอกว่าสอนก็คงพูดได้ไม่เต็มปากเท่าไรครับ คุณย่าของเราอายุเกือบ 80 ย่าบอกว่า หมอประจำแนะนำให่ท่านทำตอนเช้าดังนี้ครับ ( เราได้ปรับเป็นท่าโยคะสำหรับทุกคน เพราะที่คุณย่าฝึก ไม่ได้ละเอียดเท่านี้ แต่มีความคล้ายคลึงกัน )
     ยืนตรง ยกแขนทั้งสองขึ้นสุด แอ่นอกเล็กน้อย แล้วเหยียดแขนทั้งสองจนสุด ช้าๆ แล้วค่อยๆโน้มตัวลงข้างหน้าและก้มลง ตำ่ที่สุด ( วันแรกอาจทำไม่ได้ ค่อยๆทำครับ ) แล้วค่อยๆวางแขนลงบนพื้นข้างเท้า หรือมือแตะข้างข้อเท้า หรือจับข้อเท้าในวันต่อๆไป จนวันหลังๆ จะสามารถวางมือบนพื้นได้ครับ
     นั่งยองๆ สอดมือใต้เท้าด้านหน้า ใช้เท้าทับมือไว้ ค่อยๆลุกขึ้นโดยยกแค่เอวขึ้นสูง ก้มหน้าลง ในวันแรกอาจทำได้ไม่ดี แต่วันหลังๆ จะก้มได้ตำ่ และออกแรงกดหน้าลงเบาๆ ให้หน้าผากแตะเข่า 
     ยกหน้าขึ้นช้าๆ หายใจเข้าไปพร้อมกันยกแขนขึ้นสูง และค่อยๆลดลง ทำเช่นนี้ประมาณ 7 -8 ครั้้ง แล้วต่อด้วยท่าบริหารไหล่และแขน
หมั่นทำบ่อยๆ เพื่อผ่อนคลายและยืดกล้ามเนื้อช่วงเช้า หลังจากตื่นนอนครับ

วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

โยคะและการรักษาโรค


หลายคำถามเกี่ยวกับโยคะ คำถามหนึ่งที่มักมีคนถามบ่อย และน่าสนใจ คือ "ทำไมการทำท่าในการฝึกโยคะต่างๆ สามารถรักษาโรคได้"
การฝึกโยคะแพร่หลายและเป็นที่นิยมในเมืองไทยเมื่อไม่นานมานี้้ ส่วนหนึ่งมาจากสถานออกกำลังกายและการบอกเล่าผ่านสื่อต่างๆ ส่วนความนิยมในการฝึกอีกอย่างหนึ่งเพราะมีหลายคนได้ข้อมูลมาว่า โยคะสามารถรักษาโรคต่างๆได้
ความน่าสนใจของเรื่องนี้อยู่ที่ โรคต่างๆที่เราได้ยินมาว่าสามารถรักษาได้ด้วยการฝึกโยคะนั้น สามารถรักษาได้จริงหรือไม่ และมีหลักฐานหรือข้อมูลอะไรมาอ้างอิง
เท่าที่เราค้นคว้าหาข้อมูล และจากประสบการณ์ พอยกมาอ้างอิงและอธิบายได้บ้าง แม้จะไม่มากนัก ลองอ่านดูนะครับ
โยคีในสมัยก่อนได้อธิบายถึงการรักษาโรคของโยคะว่าเป็นการเปิด "ตาที่สาม"คือเมื่อเราเปิดตาที่สาม จิตจะสงบ และอาการไม่สบายร่างกายทั้งหลายก็จะสงบลงไปด้วย และโยคียังได้ค้นพบว่าการฝึกปราณ เมื่อวงโคจรของปราณไม่ติดขัด เราก้จะรู้สึกสบาย และการควบคุมปราณยังรักษาโรคบางโรคได้ เช่น โรคข้ออักเสบ โรคเครียด
แต่ยุคสมัยปัจจุบัน เรามีวิถีชีวิตที่ต้องทำงาน เรียนรู้เรื่องราวต่างๆที่ค่อนข้างเป็นวิทยาศาสตร์และมีความเป้นเหตุเป็นผล สิ่งเหล่านี้วิทยาศาสตร์ถือว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจ นักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่จึงทำการค้นคว้าทดลองเรื่องราวเกี่ยวกับโยคะและพยายามอธิบายใหม่ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย
ความรู้ของมนุษย์ในปัจจุบันมีมากขึ้น เราจึงพยายามอธิบายเรื่องราวของ "ตาที่สาม" ที่โยคีในอดีตเคยกล่าวถึง ว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับฮอร์โมนในร่างกายอย่างไร และเรื่องของปราณที่โยคีพูดถึงว่าเป็นพลังงานจักรวาล คืออะไร นักวิทยาศาสตร์ยังพยายามอธิบายอาสนะ ในแง่มุมของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ซึ่งคล้ายกับโยคะเป็นการบริหารร่างกายอย่างหนึ่ง และการฝึกโยคะมีผลดีกว่าการออกกำลังกายด้วยการออกแรงมากๆเช่นการเล่นกีฬา ช่วยในการไหลเวียนของเลือด การฟอกอากาศของปอดดีขึ้น โยคะจึงเป็นการส่งเสริมสุขภาพเกือบจะรอบด้าน
ทฤษฎีเรื่องตาที่สาม
โยคีในอดีตมีความรู้เรื่องต่อมไร้ท่อต่างๆในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นต่อมไทรอยด์ ต่อมพิทูอิทารีย์ หรือที่เราเรียกว่า"ต่อมใต้สมอง" รวมถึงต่อมไพเนียล ที่อยู่เหนือสมอง
ต่อมเหล่านี้มีหน้าที่รับผิดชอบและควบคุมการทำงานของร่างกาย โยคีมีชื่อเรียกความรู้เหล่านี้แตกต่างจากนักวิทยาศาสตร์ตะวันตกสมัยใหม่เรียกกัน เช่น เรียกต่อมพิทูอิทารีย์ว่า "แสงจันทร์ทิพย์" และรู้ว่าหน้าที่ของต่อมนี้เกี่ยวกับการขับนำ้และควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกาย ส่วนต่อมไพเนียล โยคีเรียกว่า"เนตรศิวะ"
เนตรศิวะ เป็นสิ่งที่โยคีให้ความสำคัญมาก ในด้านของสุขภาพ แต่หากเราลองมองในอีกแง่มุมหนึ่ง จะพบว่า นักวิทยาศาสตร์รู้จักและเข้าใจการทำงานของต่อมไพเนียลน้อยที่สุดในบรรดาต่อมไร้ท่อในร่างกายของคนเรา
นักวิทยาศาสตร์ในอดีตเคยบอกว่าต่อมไพเนียลไม่มีหน้าที่อะไร แต่เมื่อไม่นานมานี้มีการศึกษาการทำงานของต่อมไพเนียลอย่างจริงจัง และพบว่า เรามีสามตาจริงๆ (ตามหลักการ) ตาที่สามของเราไม่ได้อยู่ตรงหน้าผาก แต่อยู่ในกระโหลกศรีษะ เรียกชื่อว่าต่อมเหนือสมอง หรือต่อมไพเนียล
ในสัตว์ชั้นตำ่อย่างซาลามานเดอร์มีสามตา ตาที่สามอยู่กลางศรีษะ หน้าที่ของสองตาด้านหน้าคือเอาไว้รับภาพ แต่ตาที่สามมีหน้าที่รับแสงสว่างโดยเฉพาะ ซาลามานเดอร์เป็นสัตว์ชั้นตำ่ ต้องอาศัยตาที่สามเตือนว่ามีแสงสว่างและออกหากิน เวลากลางคืนมาถึง ตาที่สามจะบอกว่ามืดแล้ว ถึงเวลานอน
ตาที่สาม(ต่อมไพเนียล)ของคนมีหน้าที่คล้ายกัน ต่อมไพเนียลจะมีความไวต่อแสง ดังนั้นแสงสว่างกับความมืดจะมีอิทธิพลต่อการทำงานของต่อมไพเนียล คือ แสงสว่างจะกระตุ้นให้ต่อมไพเนียลสั่งงานลงไปยังต่อมพิทุอิทารีย์ให้หลั่งฮอร์โมนเพศบางตัวเพิ่มขึ้นและกดการหลั่งของฮอร์โมนบางตัว
วิทยาศาสตร์ปัจจุบันพบว่า ต่อมไพเนียลสร้างฮอร์โมนสองชนิดคือ ซีราโตนิน และเมลาโตนิน ฮอร์โมนทั้งสองมีผลต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อในร่างกายหลายชนิด ซึ่งรวมไปถึง
"การมีผลต่อความสงบของจิตใจ" ซึ่งการฝึกโยคะ จะฝึกควบคุมการทำงานของตาที่สามหรือต่อมไพเนียลนี้ วิธีฝึกสมาธิเพื่อควบคุมการทำงานของต่อมนี้ มีอาสนะเช่น ท่ากระต่าย(ก้มศรีษะลงติดพื้น) ด้วยหวังผลว่า ท่านี้คือการนวดต่อมไพเนียลในศรีษะ และเชื่อว่าอาสนะนี้จะทำให้การสร้างฮอร์โมนเมลาโตนินเพิ่มมากขึ้น ลดการหลั่งฮอร์โมนซีราโตนินลง
ฮอร์โมนในร่างกายและโยคะ
   การทำงานของร่างกายส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการควบคุมของฮอร์โมน ความสบายใจก็ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของฮอร์โมน สังเกตได้จากเวลาผู้หญิงจะมีประจำเดือน ระดับออร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในเวลานั้นมีผลทำให้ผู้หญิงหลายคนหงุดหงิด เจ้าอารมณ์ ซึ่งโยคะมีวิธีควบคุมการทำงานของต่อมไร้ท่อต่างๆ เช่น ท่ายืนด้วยไหล่ โดยใช้ไหล่รับนำ้หนักตัวและใช้ขาชี้ขึ้นข้างบน ท่านี้ควรทำสัก 1-2 นาที แล้วจึงพัก การเอาศรีษะลงในระดับตำ่ และเอาขาขึ้นที่สูง เป็นการปรับการไหลเวียนของเลือดใหม่ ท่านี้จะทำให้เลือดไปเลี้ยงศรีษะมากขึ้น ต่อมพิทูอิทารีย์ได้รับเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น และมีความสมบูรณ์ในการสั่งงานระบบการทำงานของต่อมไร้ท่อต่างๆได้ดีมากขึ้น
  อีกตัวอย่างหนึ่งคือการควบคุมการทำงานของต่อมหมวกไต โดยเฉพาะเวลาที่เราโกรธ อารมณ์ฉุนเฉียว ฮอร์โมนอะดรีนาลิน จากต่อมหมวกไต จะหลั่งออกมาและทำให้หัวใจเต้นแรงและเร็ว หายใจเร็ว และกล้ามเนื้อเกร็งทั้งตัว อาการลักษณะนี้แสดงว่า เรากำลังเสียสมดุล ควบคุมประสาทสัมผัสและตัวเองไม่ได้ แนะนำให้เราใช้การหายใจเข้าปรับให้ฮอร์โมนในร่างกายกลับเข้าสภาวะสมดุล โดยการหายใจด้วยท้อง แขม่วท้องหายใจออกให้เต็มที่จนท้องแฟบ แล้วค่อยๆหายใจเข้าช้าๆ ลึกๆ จนท้องป่อง และหายใจออกช้าๆ โดยพยายามให้การหายใจออกยาวกว่าการหายใจเข้า และเมื่อเราทำแบบนี้ในช่วงเวลาไม่นานนัก จะรู้สึกว่าหัวใจเต้นช้าลง และลดอารมณ์ร้อนได้ เป็นการกดฮอร์โมนอะดรีนาลินให้ลดลง