วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554

อันตรายจากความประมาทในการฝึกโยคะที่ไม่ควรมองข้าม

การทำอะไรทุกอย่างด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจนั้น จะส่งผลให้กับตัวเราในทางที่ดี(ไม่ใช่เฉพาะการฝึกโยคะ) ซึ่งเป็นไปได้กับกิจกรรมทุกอย่างในชีวิตประจำวัน และนับเป็นคุณลักษณะที่ดีสำหรับนำไปพัฒนาต่อไปในกิจกรรมต่างๆ
ผู้ที่ประสบความสำเร็จในสาขาต่างๆนั้น ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะเรามีความสามารถที่ต่างกัน จึงมีความหลากหลายในเรื่องของความรู้ในสาขาต่างๆ บางคนชำนาญในเรื่องการจัดการตัวเลข การจัดระบบระเบียบสิ่งของ การนำเสนอ การทำเอกสาร การวาดภาพฯ

ผู้ฝึกโยคะหลายคนฝึกจนเกิดความชำนาญและเข้าใจในอาสนะ ในขณะที่หลายคนกำลังทำความเข้าใจอาสนะและอาจมองว่าเป็นเรื่องซับซ้อน แต่บุคคลประเภทหลังจะเป็นผู้ที่ฝึกโยคะด้วยความระมัดระวัง ประกอบกับการพยายามทำการเรียนรู้ จึงมีโอกาสเสี่ยงจากการบาดเจ็บน้อยกว่าผู้ที่เข้าใจว่าตนเองมีความชำนาญแล้ว และอาจมีบางช่วงที่ฝึกโดยขาดความรอบคอบและระมัดระวัง โดยเแพาะอย่างยิ่งในอาสนะชุดยากต่างๆ ที่ยิ่งฝึกได้มากขึ้นเท่าไร กลับสร้างความ "หลงในอาสนะ" เหล่านั้น ให้กับผู้ฝึก บางคนถึงกับตัดสินว่า อาสนะยากๆเป็นตัวชี้วัดความเก่งของผู้ฝึกโยคะ จนอาจหลงลืมถึงแก่นของโยคะและคุณสมบัติที่กล่าวถึงเรื่องของสมาธิและการฝึกจิตไป

ผมเองไม่ใช่ครูโยคะที่เก่งในระดับที่หลายคนอาจกล่าวใช้คำยกย่องได้ แต่การเขียนบทความตอนนี้เขียนขึ้นเพื่อเตือนสติผู้ฝึกโยคะให้ตระหนักถึงโทษของการฝึกโยคะที่เราทำเพียงเพื่อต้องการเอาชนะตนเองโดยขาดความเข้าใจร่างกายของตนเองในขั้นพื้นฐาน การประเมินศักยภาพของตนเองและอาจเป็นการไม่รู้จักกาละเทศะในเรื่องสรีระของเราเอง
ดังเช่นอาสนะฝึกชุดกลับหัว ที่หลายคนอยากทำได้เพียงเพื่อพิสูจน์ว่า "ฉันทำได้" เพราะผมเองเคยบาดเจ็บจากการฝึกอาสนะชุดนี้มาแล้ว และยังโชดดีที่ไม่เกิดการกดทับของเส้นประสาทต้นคอ (ซึ่งสามารถส่งผลต่อสุขภาพในระดับที่อันตรายได้จากการกดทับของเส้นประสาทดังกล่าว)
ความพอดีและค่อยเป็นค่อยไป ทำได้เมื่อถึงเวลา จึงเป็นวลีที่ผมพูดลอยๆในชั้นฝึกโยคะ หลายคนอาจมองว่า เหมือนกับไม่ใส่ใจ
แต่ในความเป็นจริง มุมมองของผม เห็นบุคลิกของผู้ฝึกหลายคนว่า ยังไม่พร้อมในอาสนะนั้นๆ เพราะหากทำไปโดยร่างกายยังไม่พร้อม
คุณนั่นแหละที่ทำร้ายตัวคุณเอง และเมื่อถึงเวลานั้น อาจสายเกินไปกว่าจะกล่าวคำว่าเสียใจครับ
ด้วยความเคารพอย่างสูง
25 กันยายน 2554