

นมัสเต...
ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องระบุไปว่า สิ่งที่เราให้ค่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หรือผิด เสมอไป...
เพราะในกรณีของการฝึกโยคะ และผู้ที่เข้าใจทั่วไป อาจคิดว่าการฝึกโยคะเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่งที่ไม่ได้แตกต่างกับ การออกกำลังกาย ยืดเส้นสาย เหมือนกับกีฬาอื่นทั่วไป ที่เราพบเห็น
และโดยเฉพาะในสิ่งแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่ด้วยแล้ว การจะมีชีวิตวนเวียนเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ที่ฝึกโยคะนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย สาเหตุหลักๆที่เราพบเห็น (จากประสบการณ์อันน้อยนิด)
นั่นคือ...โยคะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่สำคัญในการดำรงชีวิตอยู่ของคนทั่วไป
พูดแบบเข้าใจง่ายๆก็คือ โยคะน่าจะจัดอยู่ในประเภทของการรักษา ซึ่งโยคะเป็นเสมือนยารักษาโรคประเภทหนึ่ง เช่นเวลาเราป่วยไข้ ก็ไปหาหมอเฉพาะทาง โรคจากการเจ็บป่วยบางอย่าง เราอาจได้รับการแนะนำจากแพทย์ว่า ถึงเวลาที่ควรให้ร่างกายได้ออกกำลังกายเบาๆบ้าง
และส่วนหนึ่งของการออกกำลังกายเบาๆนั้น (ประสบการณ์จากการสอบถามและพูดคุยกับลูกศิษย์ที่ผ่านมาของเราเอง**) โยคะก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการบำบัดร่างกายจากการเจ็บป่วยนั่นเอง
เมื่อได้รับคำแนะนำเรื่องสุขภาพ โยคะเป็นการบำบัดพื้นฐานที่ได้รับการกล่าวถึง เช่นความเข้าใจว่าการยืดตัวในรูปแบบของการฝึกโยคะ ช่วยให้ร่างกายมีการหมุนเวียนของระบบต่างๆ
หรืออาจมีความเข้าใจว่า การฝึกโยคะร้อนทำให้เหงื่อออกในปริมาณมากๆ และเมื่อเราสูญเสียเหงื่อแล้ว เราจะผอมลง หรือสามารถลดนำ้หนักได้อีกวิธีหนึ่ง
คงไม่ต้องมาถกเถียงกัน เพราะเราอาจมีมุมมองที่แตกต่างกันเป็นธรรมดา โยคะของคุณเป็นการบำบัด ผ่อนคลาย เป็นกีฬาเบาๆ หรือเป็นกีฬาทางเลือก...
และสำหรับผู้ที่ฝึกโยคะ (ในระดับที่เรียกว่าจริงจังถึงจริงจังที่สุด) นั้น โยคะของเขาอาจเป็นเพียงการตรวจสอบพฤติกรรมของเราเอง หรืออาจเป็นการตรวจสอบทัศนคติที่เคยชินของร่างกาย และเรียนรู้ถึงผลที่ตามมา เพราะความเปลี่ยนแปลงของผู้ที่ฝึกโยคะนั้น จุดมุ่งหมายสูงสุด (หากเราไม่ใช่นักบวช สาธุ หรือโยคี ) โยคะจึงอาจไม่ใช่ความคิดเชิงปรัชญาหรือจิตวิญญาณที่ลึกไปถึงพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด
อาจมุ่งประเด็นไปที่ การฝึกโยคะช่วยควบคุมให้เรามีสติ มีสมาธิ และมีความสามารถในการจดจ่อกับภาระหน้าที่ในการทำงาน โดยเราสามารถจัดการควบคุมอารมณ์ให้รู้สึกสงบ แม้ในสถานการณ์ที่พบกับความยุ่งยากก็ตาม
แล้วการฝึกโยคะของคุณเป็นไปในทิศทางใดที่กล่าวมา... นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ .... เพราะคำตอบอยู่ในใจของผู้ที่ฝึกเอง.
หมายเหตุ ***
ภาษาในและข้อความในบล็อก เป็นภาษาพูดกึ่งเขียน และไม่มีการตรวจทานโดยราชบัณฑิตยสถาน จึงอาจมีความคลาดเคลื่อนในการวางรูปประโยคหรือสระและพยัญชนะ สิ่งที่ต้องการคือ การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา อ่านแล้วรู้สึกเป็นกันเอง ไม่สามารถนำไปอ้างอิงเป็นเอกสารวิชาการใดๆได้ครับ และถ้าต้องการเนื้อหาทางวิชาการ แนะนำให้อ่านหนังสือหรือวารสารเกี่ยวกับสุขภาพโดยตรงครับ
ขอบคุณ
shyamasundra yogiya das