วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555

โยคะกับการเจริญสติ

ในพื้นฐานความเข้าใจทั่วไป เราแบ่งความมุ่งหมายของโยคะไว้ด้วยเส้นที่บางเบา ฝึกโยคะแล้วร่างกายแข็งแรง และฝึกโยคะแล้วได้สมาธิ..
ความเข้าใจที่หลากหลายไม่ใช่ข้อสรุปชี้วัดให้กับความรู้ในสาขาต่างๆ...
เราเองก็ไม่ต้องการให้ทุกข้อเขียนในหน้าเวบบล็อกนี้เป็นข้อสรุปทุกคำถามที่ล่องลอย เราทำได้เพียงช่วยเพิ่มเติมข้อมูลทั้งด้านสุขภาพและจิตวิญญาณ ในระดับที่คนทั่วไปอ่านและนำไปค้นคว้าหาความรู้ประกอบเพิ่มเติม โดยไม่เน้นว่าจะต้องเป็นเนื้อหาเชิงวิชาการที่หนักเกินไป
เกริ่นนำมาจนแทบออกนอกประเด็น...
การเจริญสติเป็นคำที่มีความหมายในทางการปฏิบัติภาวนา
สำหรับผู้ฝึกโยคะ ในการเรียนจะฝึกฝนควบคู่ไปกับการกำหนดลมหายใจ ซึ่งอาจมีอีกหลายวิธีการตามแต่ครูผู้ฝึกสอนเลือกนำมาเป็นบทเรียน สิ่งที่ได้จากการฝึกโยคะคือเรื่องของผลรวมต่อสุขภาพที่ดีขึ้น และการใช้สติควบคู่ขณะฝึก ผู้เรียนต้องคอยฟังการบรรยายอาสนะฝึกและหลักปฏิบัติในขณะฝึก หากผู้เรียนเผลอไปเพียงชั่วขณะ การฝึกจะขาดความต่อเนื่องทันที.. หากจิตใจเราแส่ส่าย การฝึกโยคะจะเป็นการเน้นเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อบริหารส่วนต่างๆให้ทำงานสะดวกขึ้น โดยเราอาจตัดประเด็นของสมาธิออกไปก่อน ให้การเรียนขณะนั้นสอดคล้องกับภาวะของผู้เรียนเอง เพราะประสบการณ์การสอนที่ผ่านมา เมื่อเริ่มคลาส ผู้เรียนบางคนยังพะวงกับเรื่องต่างๆที่คั่งค้าง กว่าจะเข้าขั้นของการให้สติกลับมาอยู่กับตัวนั้น บางครั้งใช้เวลาพอสมควร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาวะจิตในขณะนั้นนั่นเอง จึงปรับเปลี่ยนการสอนให้ควบคู่กับสถานการณ์ในขณะนั้น เช่นดูจากกลุ่มผู้เรียน เป็นต้น