วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ควรฝึกโยคะตามหนังสือเล่มไหนดี?


ตำราฝึกโยคะมีขายทั่วไป ซึ่งเราสามารถหาได้ไม่ยากครับ ตามร้านหนังสือใหญ่ๆจะหาได้ง่ายกว่าร้านเล็ก ส่วนนิตยสารก็เห็นมีวางขายอยู่เช่นเดียวกัน ส่วนจะให้เราแนะนำว่าเล่มไหนดีกว่าเล่มไหน คงต้องให้ผู้ที่สนใจทดลองอ่านและเปรียบเทียบเอาเอง ตามแต่ความสนใจและความชอบของแต่ละคน มีสิ่งหนึ่งที่แนะนำได้คือ หนังสือทุกเล่มมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ดังนั้นจึงหาตำราฝึกที่ดีที่สุดไม่ได้ครับ เพราะความต่างที่กล่าวมา
สิ่งที่สำคัญกว่า คือ ตำราฝึกเล่มไหนก็ไม่สำคัญเท่าตัวคุณเอง เพราะการฝึกโยคะนั้น ตำราที่ใช้ฝึกท่องจำและอ่านประกอบการฝึก มีเพียง 1 ส่วน แต่สิ่งสำคัญคือ การฝึกฝน ความอดทนและความตั้งใจพยายาม เป็น 99 ส่วนที่เหลือครับ ถึงเราจะอ่านหนังสือมากมาย แต่ยังไม่ลงมือทำ ก็คงไม่เกิดผลในทางปฏิบัติให้เราได้เห็นและเข้าใจอย่างถูกต้องครับ แม้แต่คนที่ผ่านการฝึกมานาน หลายครั้งที่ท่าฝึกต่างๆ หากไม่เข้าใจถึงแก่นหรือหลักของท่านั้นๆ ก็ยังไม่สามารถทำแล้วเกิดผลตามที่หนังสือหรือตำราบอกไว้เช่นเดียวกัน
ทางที่ดีเราอ่านหนังสือ แล้วค่อยๆทำตามไปทีละขั้นตอน ส่วนหนังสือนั้น หากเริ่มจากเล่มที่เราชอบที่สุด จะทำให้เราฝึกได้สนุกด้วยครับ

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เหตุผลที่ต้องยืดแนวสันหลัง แขน และขา


การยืดแนวกระดูกสันหลัง แขน และขา เป็นสิ่งที่เราพูดเสมอ สำหรับผู้ฝึกใหม่อาจสงสัยว่า ทำไมต้องยืดเหยียดแขนขาให้ตรง อย่างอเข่า งอแขนหรือข้อศอก
เหตุผลหนึ่งคือ ร่างกายของเราจะไม่ยืดหยุ่นผ่อนคลายตามที่ควรจะเป็น ซึ่งหัวใจของการฝึกโยคะคือการฝึกให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย ได้ขยับข้อต่อ กระดูกต่างๆ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นการปรับสมดุลของร่างกาย และขณะเดียวกัน เรายังต้องควบคุมลมหายใจให้ถูกต้อง สมำ่เสมอ เพราะหากเราทำได้อย่างที่กล่าวมา เท่ากับว่า เราได้ปรับสมดุลของร่างกายในระดับพื้นฐานได้ ส่วนจะมากหรือน้อยแค่ไหนนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคนครับ

ท่าฝึกใหม่ครับ





การฝึก
- นั่งตัวตรง พับขาขวามาด้านหน้าคล้ายนั่งขัดสมาธิ พับขาซ้ายให้เข่าตั้งฉากกับพื้น (ตามภาพ)
- ยกขาซ้ายข้ามและไปไขว้เหนือเข่าและขาด้านขวา โดยที่เข่ายังตั้งสูง
- หมุนตัวเอียงมาทางด้านซ้าย ก้มตัวลงเล็กน้อย (สังเกตุว่า หมุนตัวไปด้านเดียวกันกับเข่าที่ตั้งขึ้นมา)
- แขนขวาดันเข่าและขาซ้ายที่ตั่งอยู่ แล้วเอื้อมมือไปจับเข่าขวาที่วางอยู่กับพื้น
- แขนซ้าย ยกขึ้นช้าๆ หายใจเข้า และขณะที่หายใจออก วางมือไปด้านหลังกับพื้น และหันหน้าไปด้านหลัง(หันไปด้านซ้ายจนสุด) แล้วหายใจออกอย่างช้าๆ ประมาณ 5 - 8 ลมหายใจ
- หันกลับมา และทำลักษณะเดียวกัน แต่เปลี่ยนสลับขาและแขนและทิศทางการหันของหน้าตามเช่นเดียวกันครับ
- (ภาพประกอบล่าง) สำหรับผู้ฝึกที่มีความชำนาญสูงขึ้นอีกในระดับหนึ่งครับ
- ขณะที่เราใช้แขนขวาดันเข่าซ้ายอยู่นั้น ให้สอดแขนเข้าไปใต้ขา และอ้อมไปด้านหลัง และใช้มือจับข้อมือซ้ายที่อ้อมมาด้านหลังแล้วบิดตัวหันไปด้านซ้าย และหายใจเข้าออกช้าๆ เช่นเดียวกับผู้ฝึกในระดับต้น 5 - 8 ลมหายใจเช่นเดียวกัน

*** ข้อควรระวัง
การฝึกในระดับต้นและระดับสูง ควรทำอย่างผ่อนคลายและค่อยเป็นค่อยไปครับ หากฝืนในขณะที่ร่างกายยังไม่พร้อม อาจได้รับความเจ็บปวดช่วงไหล่ แขน หรือหลัง เน้นว่าค่อยเป็นค่อยไปครับ
วันนี้เราทำไม่ได้ วันหน้าเราก็ทำได้ ถ้ามีความตั้งใจและความพยายามครับ อย่าพึ่งท้อเสียก่อน

ดูแลสุขภาพด้วยครับ ห่มผ้าหนาๆ อุ่นๆ และอย่านอนดึก ขณะที่ชีวิตอยู่กับเรา ควรดูแลเขาให้ดีๆครับ
ด้วยความปราถนาดี

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ผักผลไม้สด สิ่งที่ไม่ควรมองข้าม


วันนี้ในเมนูอาหารของเรามีผักผลไม้บ้างหรือเปล่า
ลองสำรวจดูว่า ตั้งแต่ตื่นนอน เมนูมื้อเช้า กลางวัน เย็น หรือรอบคำ่รอบดึก ซึ่งก็คงแล้วแต่กิจวัตรและชีวิตประจำวันของแต่ละคน
หากเป็นไปได้ เราขอแนะนำให้เพิ่มเมนูผักและผลไม้ลงไปในแต่ละวัน เริ่มต้นอาจไม่จำเป็นต้องเพิ่มมาก
และที่สำคัญ ผักผลไม้นั้นต้องสดครับ
เช่นอาจหาผักสดสามสี่ชนิดใส่จานขนาดกลางไม่ใหญ่มาก หรือผลไม้สักสองสามลูก ล้างให้สะอาดพอประมาณ เช่นแอปเปิล เราไม่ต้องปอกเปลือก แล้วทานผักผลไม้นั้นทั้งสดๆ
ถ้าจะให้ดี ลองทานแทนของว่าง สักวันละจาน หรือสองสามวันทานสักจานหนึ่งก็ได้ครับ
ร่างกายเราจะได้รับสารอาหารที่มาจากสิ่งเหล่านี้ โดยที่ไม่ต้องผ่านการสกัดในรูปแบบอื่นแต่อย่างใด
ทำบ่อยๆ หรือทำเท่าที่เรามีโอกาสจะดีมากครับ
ผักผลไม้บ้านเราหาไม่ยาก แต่แนะนำให้ซื้อจากตลาดจะดีกว่าครับ
เราเคยซื้อกล้วยนำ้ว้ามาจากแผนกอาหารในห้างสรรพสินค้า
ขนาดวางไว้เฉยๆเกือบสัปดาห์ ผิวนอกของเปลือกกล้วยยังสีสันสวยงาม ไม่ดำ ไม่เปลี่ยนแปลง
ดูแล้วอันตรายครับ ไม่รู้ว่าทำได้อย่างไร หากเทียบกับกล้วยในตลาดสดแถวบ้าน เปลือกจะเปลี่ยนสีเร็วกว่า
ทานผักผลไม้เยอะแล้วดีหลายอย่างครับ ที่สำคัญคือช่วยระบบขับถ่ายของร่างกายได้ดีมาก

วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

อุ่นเครื่องร่างกายก่อนลุกจากที่นอน


สวัสดีครับ เรากลับมาจากการพักผ่อนและหาความรู้เพิ่มเติม ภาพที่พบเห็นยังคงเป็นภาพของคนไทยที่ป่วย หน้าตาอิดโรย เคร่งเครียด ซึ่งก็คงไม่ใช่สิ่งใหม่ครับ เป็นเรื่องปกติธรรมดาของสังคมที่เร่งรีบ อย่างไรก็ขอเอาใจช่วยทุกคนให้มีสุขภาพแข็งแรงเช่นเคย
การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับร่างกายของมนุษย์ครับ เพื่อนของเราหลายคนมุ่งมั่นทำงาน (ให้คนอื่น ) โดยที่ไม่พักผ่อนให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ซึ่งน่าเสียดายครับที่ร่างกายเราควรจะได้รับการพักบ้าง เพื่อเป็นการซ่อมบำรุงในส่วนต่างๆ แต่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคนจริงๆครับ เพราะเราป่วยไข้แทนกันไม่ได้จริงๆ สุขภาพของใครก็คงต้องดูแลกันเอาเองนะครับ (ด้วยความปราถนาดี)
ท้ายที่สุดแล้ว วันนี้เรามาแนะนำการอุ่นเครื่องร่างกายเมื่อตื่นนอน แบบไม่ต้องทำอะไรให้วุ่นวายมากครับ ไม่เกินห้านาที และทำในขณะนอนบนเตียงนอน ซึ่งก้ยังดีกว่าการที่เราลุกขึ้นมาแล้วรีบเร่งไปทำกิจวัตรและลืมการผ่อนคลายกล้ามเนื้อไปในที่สุด อันนี้ก็แล้วแต่สะดวกครับ ไม่ว่ากันถ้าใครจะนำไปทำตามหรือไม่

การปฏิบัติ
หลังจากรู้สึกตัวว่าตื่นนอนแล้ว ตั้งสมาธิ หรือตั้งสติสักครู่ นอนหงาย ลำตัวตรง ขาทั้งสองชิดติดกัน มือสองข้างวางขนานลำตัว หายใจเข้าออกช้าๆ โดยปิกปาก และหายใจทางจมูกให้มีเสียงลมหายใจผ่านลำคอ เราจะรู้สึกได้ว่า หายใจได้ลึกขึ้น หายใจลักษณะนี้สักครู่ ประมาณ 3 นาที แล้วค่อยๆขยับนิ้วเท้าทั้งสองทุกนิ้ว เพื่อให้ร่างกายตื่นตัว แล้วจึงขยับนิ้วมือในลักษณะเช่นเดียวกัน ( ยังคงหายใจลึกๆผ่านลำคอครับ)
หลังจากร่างกายเริ่มรู้สึกตื่นตัวแล้ว จึงหันหน้าไปทางด้านซ้าย จนแก้มชิดกับที่นอน และหันไปทางด้านขวา ทั้งสองข้างทำอย่างค่อยเป็นไปครับ ไม่ควรรีบเร่ง
ขั้นต่อไปให้ประสานมือทั้งสองข้างแล้วยืดเหนือศรีษะ แล้วพลิกฝ่ามือหงาย เหยียดให้สุดและหายใจเข้าลึกๆ พร้อมกับยืดร่างกายทุกส่วนไปพร้อมกัน ( ปลายมือจรดปลายเท้า ) แล้วจึงหายใจออกอย่างผ่อนคลาย และปล่อยให้ร่างกายผ่อนคลาย ( วิธีการคล้ายกับบิดตัวเวลาเมื่อย) แล้วหายใจเข้าออกลึกๆอีกสามสี่ครั้ง และหันตัวเอียงด้านใดด้านหนึ่ง แล้วดันตัวลุกขึ้นจากที่นอน
เท่านี้เราก้พร้อมที่จะทำกิจกรรมประจำวันได้แล้วครับ ทำไม่ยาก แต่ส่วนมากเราตื่นแล้วมักจะลุกมายืนงงกันเป็นส่วนมาก หากไม่ลืม ลองทำดูบ้างก็ดีครับ