วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2552

ท่าบริหารลำตัวและกระดูกสันหลัง (ขยายบทความเก่าครับ)


Jakrasana ท่าฝึกนี้เป็นรูปคล้ายวงกลม หรือวงล้อ ขณะฝึกควรระมัดระวังด้วยครับ (ไม่ควรฝึกบนพื้นเปล่าๆ เพราะอาจเกิดอันตรายต่อแนวกระดูกสันหลังได้ ** )
การฝึกเริ่มจากการนอนหงายราบลงกับพื้น ตั้งเข่าทั้งสองขึ้น จับข้อเท้าดึงมาชิดลำตัว (ไม่เกร็ง ) และปล่อยมือ แล้วยกฝ่ามือทั้งสองหงาย แล้ววางควำ่ข้างใบหู 
   หายใจเข้าลึกๆ และค่อยๆยกลำตัวขึ้นช้าๆ ใช้แขนทั้งสอง และขาทั้งสอง ทรงตัว ดันขึ้นจนสุด (เท่าที่ร่างกายจะทำได้ ค้างไว้สักครู่ หรือประมาณ 10 วินาที และลดตัวลงช้าๆ แล้วพักโดยการนอนราบและหายใจเข้าออกยาวๆ 
 *** ต้องระวังไม่ให้หลังกระแทกพื้นเพราะจะเป็นอันตรายอย่างมาก
   *** การฝึกท่านี้ควรทำด้วยความระวัง ผู้ฝึกใหม่ควรมีผู้ที่ชำนาญคอยดูแล และอย่ารีบร้อนเพื่อให้ยกร่างกายขึ้นได้ในครั้งเดียว

วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2552

ตัวอย่างภาพและวีดีโอท่าฝึก***


ด้านซ้ายเป็นท่าสุริยนมัสการ ฝึกเช้าวันละ 5 -  12 รอบ ช่วงก่อนพระอาทิตย์ขึ้นจะดีมาก (ถ้าทำได้) ส่วนภาพการฝึกด้านขวาเป็นการฝึกที่ต้องอาศัยความชำนาญอีกระดับหนึ่งครับ
ไฟล์วีดีโออาจจะไม่ชัดมาก แต่เราควรฝึกสุริยนมัสการให้ได้ทุกวัน (ภาพถ่ายประกอบด้านล่างครับ )

Sun salutation pic ; pose by Me ( from Left to Right ) ; สุริยนมัสการ (จากซ้ายไปขวา)


1.Pranamasana (normal breath)
2.Hasta Utthanasana ( inhale)
3.Padahastasana (exhale)
4.Ashwa Sanchalanasana (inhale)
5.Parvatasana (exhale)
6.Ashtanga Namaskara 
7.Bhujangasana (inhale)
8.Parvatasana ( exhale)
9.Ashwa Sanchalanasana (inhale)
10.Padahastasana (exhale)
11.Hasta Utthanasana (inhale)
12.Pranamasana  (normal breath)

วิถีแห่งธรรมชาติบำบัด (ตอนแรก)


   โลกในยุคปัจจุบัน เราอาจเรียกกันว่า"โลกสมัยใหม่" มีสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ทั้งในด้านเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมและปัจจัยในการดำรงชีวิตรอบด้าน ได้เพิ่มขึ้น

   สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ซึ่งรวมไปถึงอาหาร เครื่องสำอาง เสื้อผ้า ยารักษาโรค มีสารประกอบปนเปื้อนที่มีส่วนผสมของเคมีเป็นองค์ประกอบอยู่ทั่วไป

   ที่มีเรื่องนี้ในบล็อกเพราะเห็นว่าความรู้เรื่องสุขภาพและการดูแลรักษาตนเองไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะการมีชีวิตที่เป็นสุขนั้น น่าจะเป็นสิ่งที่ควบคู่ไปกับสังคมมนุษย์ ซึ่งการดูแลสุขภาพลักษณะนี้มีความเกี่ยวข้องกับผู้ที่ฝึกโยคะเป็นอย่างมาก ส่วนใครที่คิดว่าเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในความสนใจหรือไม่อยากอ่านอะไรยาวๆและดูแล้วยุ่งยากวุ่นวายในทางปฏิบัติก็ไม่ว่ากันครับ เพราะความต้องการเรียนรู้และความสนใจของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน ^ ^

   สำหรับเนื้อหาของเรื่องต่อไปนี้เป็นไปในลักษณะของ "ธรรมชาติบำบัด" ครับ ส่วนเรื่องโยคะ ก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม และขอขอบคุณอีกครั้งสำหรับคุณที่สนใจ  เราคิดว่าเรื่องธรรมชาติบำบัดไม่ใช่เรื่องไกลตัวเกินไปหรอกครับ

วิถีแห่งธรรมชาติบำบัด เป็นสิ่งท้าทายสำหรับโลกยุคใหม่ และคนที่อาศัยและใช้ชีวิตในเมืองเช่นเรามากจริงๆ  เพราะปัจจุบันนี้ ทุกอย่างล้วนสะดวกสบาย และมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นหากเราเลือกจะปฏิบัติตนในลักษณะของธรรมชาติบำบัดหรือวิถีแนวทางอะไรก็แล้วแต่ตามใครจะสะดวกเรียกนั้น  จำเป็นอย่างมากที่เราต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวเราเอง เพราะต้องควบคุมตนเองจากสิ่งต่างๆรอบข้าง รวมไปถึงรสชาติอาหารอร่อยๆต่างๆ ซึ่งความมุ่งมั่นในการเผชิญหน้าแรงกดดันจากสังคมและสิ่งรอบข้างนั้นอาจทำให้เราดูเป็นคนประหลาดในสายตาของเพื่อนและครอบครัวได้เลยครับ

   เล่ามาค่อนข้างยาวครับ พราะส่วนประกอบเหล่านี้สำคัญจริงๆ

ธรรมชาติบำบัดในความเข้าใจของคนทั่วไป

ก่อนอื่นขอให้คุณลืมสิ่งที่เคยได้ยินหรือรู้มาสักครู่ แล้วมาปรับความเข้าใจให้อยู่ในระดับเดียวกัน ด้วยภาษาที่เราเขียนสื่อสารเพื่อนำเสนอข้อมูลสำหรับการปฏิบัติตนในวิถีชีวิตอีกแบบหนึ่งบนโลกยุคดิจิตอล ที่ฟังดูตลก แต่จริงครับ

   การรักษาโรคของแพทย์แผนปัจจุบันก้าวหน้ามากครับ คนส่วนใหญ่เชื่อถือยอมรับ และอาจมองเรื่องธรรมชาติบำบัดเป็นเรื่องของความงมงายหรือลึกลับเกินจะเข้าใจไป ซึ่งคงไม่ต่างจากโยคะเท่าไร ที่บางคนมองว่าอยู่ดีๆ ทำไมถึงต้องทรมานตัวเองให้ลำบากด้วย

ธรรมชาติบำบัดเป็นเรื่องที่เราต้องอาศัยการลงมือกระทำด้วยตนเอง เพราะเราต้องดูแลตัวเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตให้เข้าสู่ความเรียบง่ายและสอดคล้องกับธรรมชาติ ในด้านร่างกายต้องปรับเปลี่ยนการกินอยู่ ส่วนด้านจิตใจคือการพึ่งพาตนเอง และมีความคิดในเชิงสร้างสรรค์ 

   เราอาจคิดว่าการนอนบนเตียงให้แพทย์รักษาและฉีดยาให้เป็นสิ่งที่ง่ายกว่า แต่นั่นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ การโยนภาระหน้าที่ความรับผิดชอบต่อตนเองให้แพทย์และยารักษาโรค เป็นพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับการดูแลสุขภาพตนเอง เราควรแก้ไขจากตัวเราเองที่เป็นต้นเหตุแห่งความเจ็บป่วยทั้งหลาย 

   ส่วนเป้าหมายของธรรมชาติบำบัดไม่ใช่ว่าจะทำให้เราอยู่ได้เป็นร้อยปี แต่คือการทำให้เรามีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขทั้งร่างกายและจิตใจ จนถึงวาระที่จากไปอย่างสงบสุขเมื่อถึงเวลาและวัยอันควร ซึ่งหากเราอยู่ในสภาวะร่างกายที่มีแต่โรค จิตใจอ่อนแอช่วยตนเองไม่ได้ เราจะไม่มีทางเข้าถึงสภาวะแห่งความเป็นสุขได้เลยครับ

   ธรรมชาติบำบัดไม่ใช่เป้าหมายของการรักษาโรค แต่ทำให้เรามีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ด้วยวิธีที่สอดคล้องกับธรรมชาติ เพราะแท้ที่จริงแล้ว  มีแต่ตัวเราเองเท่านั้นที่รู้จักร่างกายแต่ละส่วนของเราดี

   หากเราเป็นไข้หรือเจ็บป่วยเล็กน้อย ส่วนมากเราจะไปคลีนิคหรือโรงพยาบาลเพื่อขอยาทันที แต่ตามหลักธรรมชาติที่เราค้นคว้าหาข้อมูลมา การกระทำดังกล่าวเป็นการสกัดกั้นการทำงานของร่างกายในการเยียวยาตนเอง เพราะมนุษย์ทุกคนมีพลังแห่งการรักษาตนเอง ซึ่งการรักษาพยาบาลของแพทย์ เป็นการเอื้ออำนวยให้พลังแห่งการรักษาตนเองแสดงตัวออกมาเต็มที่ ซึ่งการกินยาทันทีจะเป็นการสกัดกั้นการทำงานของร่างกายดังกล่าว ร่างกายเรามีประสิทธิภาพที่จะขจัดโรคร้าย เพียงเราเรียนรู้ร่างกายของเราทีละนิดก็จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีขึ้น เพราะถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่า เราเท่านั้น ที่รู้จักร่างกายของเราเองได้ดี เราควรให้ร่างกายเราได้กินอาหารที่ใช้เป็นยา และพักผ่อนเมื่อร่างกายเหนื่อยล้าหรือป่วยไข้ ออกกำลังกายบ้าง นอนหลับพักผ่อนเพียงพอให้ร่างกายได้ทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งหากเราทำความเข้าใจร่างกายและจิตใจของเราเองก่อนเป็นอันดับแรกจะพบสิ่งที่ซ่อนอยู่ในตัวเราเองมากมายครับ

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับร่างกายของเรา

ธาตุทั้งห้า

ในร่างกายของเรามีธาตุ 5 อย่างได้แก่ ดิน นำ้ ลม ไฟ และปราณ ( cosmic energy )


ดิน หมายถึง กล้ามเนื้อ อวัยวะ กระดูก เส้นเอ็นต่างๆ หากขาดธาตุดิน ร่างกายจะอ่อนแอ แคระแกร็น ไม่มีพลังชีวิต ต้องเติมธาตุดินด้วยการกินผักผลไม้ซึ่งดูดซึมแร่ธาตุต่างๆมาจากดิน การเดินเท้าเปล่าบนผืนดินก็เป็นการเติมพลังอีกทางหนึ่งเช่นกัน


นำ้ หมายถึง เลือด ของเหลวในร่างกาย หากขาดธาตุนำ้ ผิวจะแห้ง ไม่เปล่งปลั่งสดใส ไม่มีพลัง ท้องผูก ควรดื่มนำ้อย่างเพียงพอ แต่ระวังอย่าให้มากเกินความต้องการของร่างกาย เพราะการดื่มนำ้มากเกินไปจะสร้างภาระแก่ไต ทำให้ร่างกายเสียสมดุลได้เช่นกัน


ลม หมายถึงอากาศ ช่องว่างในร่างกาย หากขาดธาตุลม จะเกิดอาการปวดศรีษะ ไม่สดชื่น ขาดความกระตือรือล้น ต้องเติมลมให้แก่ร่างกายด้วยการสูดหายใจยาวๆ เอาอากาศที่บริสุทธิ์เข้าไป


ไฟ หมายถึง อุณหภูมิของร่างกาย ถ้าธาตุไฟตำ่ลง เราจะง่วงหงอยไม่มีพลัง ควรเติมธาตุไฟด้วยการอาบแดด แต่ถ้าธาตุไฟมากเกินไปก้จะฉุนเฉียวง่าย มีอาการปวดศรีษะ ให้แก้ไขด้วยการสัมผัสกับธรรมชาติ รับประทานผลไม้ ผักสด หรือนำ้ผลไม้ที่เย็นสดชื่น


ปราณ (cosmic energy ) หมายถึง พลังธรรมชาติหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งไหลเวียนอยู่ทั้งภายในกายและรอบตัวเรา ร่างกายได้รับปราณอยู่ตลอดเวลา และการอดอาหารจะช่วยให้เราได้รับพลังปารณจากธรรมชาติมากขึ้น

หลักของธรรมชาติบำบัดคือการปรับธาตุทั้ง 5 ให้สมดุล ร่างกายมีศักยภาพในการเยียวยาตนเอง เมื่อเกิดสิ่งผิดปกติร่างกายเราสามารถดูแลรักษาตนเองได้ เพียงเรารู้จักการฟังเสียงของร่างกายเราเอง จะยิ่งช่วยให้กระบวนการบำบัดด้วยธรรมชาติได้ผลดียิ่งขึ้น เมื่อเราสุขภาพไม่ดี แสดงว่าธาตุเหล่านี้ไม่สมดุล การบำบัดคือการปรับธาตุทั้ง 5 ให้สมดุล

** เพิ่มเติมครับ

เนื่องจากเราไม่ใช่นักวิชาการ และไม่ได้เรียนจบด้านแพทย์หรือสาธารณสุข ข้อมูลในนี้บางส่วนอ้างอิงจากหนังสือและเอกสารทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเราได้แจ้งชื่อหนังสือและเอกสารเหล่านั้นไว้ในหน้าแรกของบล็อก และหากคุณสนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ครับ

วันศุกร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2552

ท่าอาสนะฝึกพื้นฐาน (มีทั้งชายและหญิง)ครับ








วันหยุดยาวแบบนี้ ถ้าใครไม่ได้ไปไหน และพอมีเวลาว่าง เรามาฝึกท่าอาสนะโยคะพื้นฐานกันครับ
   ท่าอาสนะสำหรับฝึกโยคะต่างๆ มีจำนวนมากมาย ท่าเหล่านี้ถูกคิดค้นขึ้นมาโดยโยคี ซึ่งใช้เวลาพัฒนาต่อเนื่องมายาวนานนับพันปี และท่าทางต่างๆก็มีผลต่อต่อมและจักรต่างๆในร่างกาย แตกต่างกันออกไป มีผลต่อจิตใจและร่างกายต่างกันไปเช่นเดียวกัน
   อาสนะเหล่านี้จำนวนหนึ่งที่มีการนำมาฝึกสอนและเผยแพร่ไปทั่วโลก แต่เราขอเน้นในที่นี้ว่า อันตรายมาก หากเราปฏิบัติอาสนะต่างๆอย่างไม่มีพื้นฐานความเข้าใจในหลักการต่างๆของโยคะอย่างเพียงพอ และปราศจากครูผู้ฝึกสอนคอยชี้แนะ สาเหตุหลักคือ สภาพร่างกายของคนเราแต่ละคนมีความแตกต่างกันมาก จึงต้องมีการปรับท่าทางบางท่าให้เหมาะสมและถูกต้อง และไม่จำเป็นที่เราทุกคนจะทำท่าทางต่างๆตามตำราได้เต็มร้อยเปอร์เซนต์ เพราะแม้แต่ตัวเราเองซึ่งเป็นผู้ฝึกสอน ก็ยังปฏิบัติท่าทางอาสนะต่างๆได้ไม่ครบถ้วนและสวยงามทุกท่าเช่นกัน
     นอกจากร่างกายจะต่างกันอย่างที่กล่าวมาแล้ว สภาพจิตใจของแต่ละคนและพลังงานปราณะก็ยังแตกต่างกัน ดังนั้น ทางที่ดี จึงควรปฏิบัติอาสนะอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง และมีสติอยู่เสมอ เช่นที่มีอาจารย์บางท่านกล่าวไว้ว่า สติรู้ กายรู้ และอย่าฝ่าฝืนกับคำเตือนในตำราและผู้ฝึกสอน เพราะท่าทางต่างๆเหล่านี้ได้ผ่านการทดสอบและทดลองมายาวนานแล้วเป็นพันๆปี
     เราได้เลือกท่าอาสนะพื้นฐานมาทั้งจากในตำราและประสบการณ์ตรงเพื่อให้คุณที่สนใจในการฝึกโยคะได้นำไปปฏิบัติและทดลองฝึกด้วยตนเอง โดยท่าพื้นฐานที่นำมาให้ฝึกนี้ เป็นท่าที่ทำได้ง่ายและมีความจำเป็น และหากสนใจโยคะจริงๆ เราอยากให้ฝึกปฏิบัติท่าเหล่านี้อย่างสมำ่เสมอ (อาจไม่ต้องทุกวัน)ด้วยความตั้งใจ และขอให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์ทั้งกายและใจครับ

ท่าอาสนะพื้นฐานสำหรับผู้ชาย
ท่าศรีษะแตะเข่า (Paschimottanasana)
( ภาพประกอบที่ 1 )
_ เราเริ่มต้นฝึกท่านี้โดยการนอนหงายราบบนพื้น เหยียดขาตรง ให้ขาทั้ง 2 แนบชิดติดกัน ส้นเท้าและปลายเท้าติดกัน ยกแขนทั้งสองข้างชูขึ้นเหนือศรีษะ แขนแนบชิดใบหู หายใจเข้าลึกๆช้าๆ และหายใจออก พร้อมก้มตัวลง พับเอวและลดตัวลง ใบหน้าแนบชิดติดขา อยู่ระหว่างหัวเข่าทั้งสองข้าง ขาทั้งสองตรง เข่าตึง และใช้มือทั้งสองข้างจับนิ้วเท้าไว้ (การฝึกระยะแรกๆ อาจจับไม่ถึงปลายเท้า ให้จับที่ข้อเท้าไปก่อนครับ) ค้างอยู่ในท่านี้นานประมาณ 8 - 10 วินาที แล้วค่อยๆเงย ยกตัวขึ้นกลับสู่ท่าเริ่มต้น พร้อมทั้งหายใจเข้า (ทำท่านี้ 8 ครั้ง)
   เมื่อฝึกท่านี้ เราจะก้มลำตัวลง และควรหายใจออกทั้งและเข้าลึกๆ และลดข้อศอกแตะให้ถึงพื้น เพราะท่านี้จะเป็นท่าที่กระดูกสันหลังเหยียดออกมากที่สุด ดังนั้นจึงเป็นผลดีต่อกระดูกสันหลัง และสันหลังทั้งหมด และยังเกิดประโยชน์ต่อกล้ามเนื้อหลังด้วยเช่นกัน 
   ผู้ป่วยโรคตับ ม้าม ไส้ติ่งและไส้เลื่อน ไม่ควรฝึกท่านี้ครับ 

ท่าปลา ( Matsyasana )
( ภาพประกอบที่ 2 )
_ เริ่มต้นด้วยนั่งขัดสมาธิ แล้วนอนราบลงไปช้าๆ และนอนราบลงไป แล้วแอ่นหน้าอกขึ้น แหงนหน้ายกขึ้นให้ส่วนบนสุดของศรีษะแตะสัมผัสพื้น และใช้มือจับนิ้วหัวแม่เท้าของแต่ละข้างไว้ ทำท่านี้ 3 ครั้ง แต่ละครั้งค้างอยู่ในท่านี้นานประมาณ  2 - 3 นาที สายตาจ้องมองไปที่ปลายจมูก และข้อศอกสัมผัสพื้นเสมอ

ท่าธนู( Dhanurasana)
( ภาพประกอบที่ 3 )
_ นอนควำ่หน้าลงกับพื้นแล้วพับเข่า ให้ส้นเท้าทั้งสองชิดติดกัน ยกแขนทั้งสองขึ้นด้านหลังเอื้มมือไปจับข้อเท้าหายใจเข้าช้าๆ หายใจออก หายใจเข้าช้าๆและค่อยๆยกลำตัวขึ้น โดยที่แขนทั้งสองข้างดึงขาทั้งสองขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน ยืดคอและยกลำตัว อก ไหล่ ไปด้วยพร้อมๆกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ขณะทำท่านี้ มือจะรั้งขาเข้ามา และไม่ควรเกร็งลำตัว ให้แขนดึงข้อเท้าเข้ามาอย่างธรรมชาติ) ค้างไว้ 8-10 วินาที และหายใจออก และกลับสู่ท่าเริ่มต้นช้าๆเช่นเดียวกัน (ทำท่านี้ 8 ครั้ง)

ท่ายืนด้วยไหล่ ( Savangasana )
( ภาพประกอบที่ 4 )
_ นอนราบหงาย และลำตัวตั้งตรง แล้วยกขาทั้งสองชูขึ้นช้าๆ โน้มมาด้านหน้า และวางนำ้หนักร่างกายบนไหล่ทั้งสอง ค่อยๆยกลำตัวขึ้น ให้สังเกตว่า คางจะสัมผัสทรวงอก และใช้มือทั้งสองข้างคำ้ร่างกายส่วนบนบริเวณหลัง แถบของระดับซี่โครง ยกตัวขึ้นเท่าที่จะทำได้ นิ้วเท้าชิดติดกัน สายตามองที่นิ้วเท้า
   การหายใจ หายใจเข้าแล้วกลั้นลมหายใจไว้ และค่อยๆยกปลายเท้าขึ้นช้าๆ จนร่างกายตั้งตรงและทิ้งนำ้หนักลงบนไหล่จึงค่อยผ่อนลมหายใจ และหายใจเข้าออกใหม่โดยใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องเป็นตัวกำหนดและนำการหายใจ ค้างในท่านี้ประมาณ 1-3 นาที ตามความสามารถของร่างกาย แล้วจึงค่อยลดลำตัวให้ราบลงช้าๆ และทำเช่นนี้  3 ครั้ง
   ท่ายืนด้วยไหล่นี้ มีการทำงานของกล้ามเนื้อด้วยกัน3 กลุ่มคือ
   1. การยืดของกล้ามเนื้อหลัง
   2. การหดของกล้ามเนื้อในผนังหน้าท้อง
   3. การนวดกล้ามเนื้อลำคอ บริเวณด้านหน้า
   การยืดกล้ามเนื้อหลังจะทำให้ความตึงเครียดของกล้ามเนื้อลดลง และยังขจัดความแข็งตึงในกล้ามเนื้อออกไปด้วย ความแข็งตึงดังกล่าวเป็นผลมาจากท่าทางของโครงกระดูกที่เรานั่งหรือนอนไม่อยู่ในท่าที่ถูกต้องเหมาะสมต่อโครงกระดูกสันหลังของเรา
   การหดกล้ามเนื้อท้อง จะช่วยฟื้นฟูประสิทธิภาพและการทำงานของตัวมันเองให้ดีขึ้น เพราะตามปกติกล้ามเนื้อส่วนนั้นมักจะถูกละเลยและไม่รับการเอาใจใส่ ขณะเดียวกันการหดกล้ามเนื้อท้องจะช่วยขจัดไขมันที่จับตัวอยู่ในผนังหน้าท้องออกไปด้วย
   การนวดกล้ามเนื้อลำคอ บริเวณด้านหน้า ประกอบกับแรงกดของคางที่กดไปทับทรวงอก จะทำให้มีการกระจายของกระแสโลหิตในบริเวณลำตัวท่อนบนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะขณะที่การไหลเวียนโลหิตในเส้นโลหิตใหญ่ ที่นำไปสู่สมอง ยังเป็นปกติดีอยู่ โดยไหลไปตามเส้นโลหิตใหญ่ด้านกระดูกสันหลัง แรงดันของเส้นโลหิตแดงเส้นใหญ่ที่ลำคอ ซึ่งจะนำโลหิตไปยังศรีษะและโลหิตดำที่ลำคอ จะถูกหน่วงกระแสให้ไหลช้าลง ดังนั้นต่อมไทรอยด์ ต่อมไทมัส และต่อมพาราไทรอยด์จะได้รับกระแสโลหิตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นและปรับปรุงหน้าที่ของต่อมเหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้น 

ท่าอาสนะพื้นฐานสำหรับผู้หญิง (เพิ่มเติมคราวหน้าครับ)

ท่างู ( Bhujangasana )
(ภาพประกอบที่ 5 )
_ นอนราบควำ่ลง เหยียดขาตรงและแนบชิดกันครับ ยกทรวงอกแอ่นขึ้นช้าๆโดยใช้ฝ่ามือทั้งสองช่วยรับนำ้หนัก ขณะเดียวกัน แหงนศรีษะไปด้านหลัง สายตามองเหลือบเลยไปทางด้านหลังให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่พยายามอย่าฝืนตัวเองมากจนเกินไป ควรแอ่นแต่พอดี และขณะเริ่มแอ่นยกร่างกายท่อนบนขึ้น ให้หายใจเข้าและแอ่นขึ้นไปจนถึงสะดือ แล้วค้างท่านี้นาน 8 วินาที และเมื่อหายใจเข้าสุดแล้ว กลั้นลมหายใจไว้ หลังจากนั้นลดตัวลงช้าๆ ก้มลงสู่ท่าเริ่มต้นพร้อมทั้งหายใจออกช้าๆ ทำเช่นนี้ 8 ครั้ง
     อาสนะนี้สำคัญอย่างมากสำหรับผู้หญิง และควรทำทุกวัน เพราะจะให้ผลดีต่อระบบรอบเดือนและหัวใจ นอกจากนี้การหายใจลึกๆยังช่วยขยายทรวงอกให้ได้รูปทรงที่เหมาะสม และขณะเดียวกันจะช่วยกระตุ้นและนวดกล้ามเนื้อท้องและอวัยวะภายในไปพร้อมกัน

ท่า ( Yogamudrasana )
(ภาพประกอบที่ 6 )
_ ท่านี้เริ่มต้นด้วยการนั่งท่า padmasana หรือท่านั่งสมาธิเพชร หรือท่า poshanasana (ท่านั่งรับประทานอาหาร ) ซึ่งก็คือ ท่านั่งขัดสมาธิแบบธรรมดา ส้นเท้าซ้าย อยู่ใต้โคนขาขวา และส้นเท้าขวา อยู่ใต้โคนขาซ้าย จากนั้นให้เอื้อมมือและแขนซ้ายไปด้านหลัง แล้วใช้มือขวาจับข้อมือซ้ายไว้ 
     หลังจากนั้น หายใจเข้าลึกๆ แล้วเริ่มต้นหายใจออกไปพร้อมๆกับก้มตัวลง ค่อยๆลดหน้าผากแตะพื้นด้านหน้า โดยเหยียดหลังให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ และไม่ควรฝืนร่างกายมากจนเกินไป แล้วค้างอยู่ในท่านี้ พร้อมทั้งกลั้นลมหายใจไว้ 8  วินาที หลังจากนั้น เงยหน้าขึ้นช้าๆ ยกลำตัว พร้อมทั้งหายใจเข้า ทำเช่นนี้  8  ครั้ง
     การฝึกท่านี้มีผลดีต่อระบบรอบเดือนของผู้หญิง ดังนั้นทางที่ดีควรฝึกท่านี้ทุกวัน

การนอนให้หลับ ; Sleeplessness and Naturopathy Technique

การนอนให้หลับ
     ปัจจุบันหลายคนมีปัญหาในเรื่องที่เราอาจคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา เช่น การนอนหลับ เนื่องจากสภาวะต่างๆของชีวิตหลายคนทั้งจากการทำงานและชีวิตประจำวัน ทำให้เรานอนหลับยากขึ้น หลักง่ายๆในการนอนหลับพักผ่อนให้สบาย มีหลักและเทคนิคการนอนที่เหมาะสมที่เรานำมาแบ่งปันให้อ่านและทดลองปฏิบัติกันดูครับ
    1. ห้องนอนต้องมีอากาศถ่ายเทสะดวก อุณหภูมิพอเหมาะ ไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป และถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ห้องที่มีเครื่องปรับอากาศก็เป็นทางเลือกที่ดี เนื่องจากอุณหภูมิจะคงที่ และไม่มีเสียงรบกวนจากภายนอก
    2.แสงสว่างภายในห้อง ควรจัดให้มีความเหมาะสม หลักพื้นฐานคือการปิดไฟให้มืด แต่แสงสว่างบางอย่างมีส่วนในการช่วยเอื้ออำนวยการนอนหลับพักผ่อน เช่นแสงสีชมพูอ่อน สีเขียวนวล ส่วนแสงสีแดงและนำ้เงินรบกวนการนอนเป้นอย่างมาก
    3.เสื้อผ้าที่สวมใส่ ควรเป็นชุดนอนที่่หลวม สวมสบาย ไม่รัดจนเกินไป และขณะที่เรานอนไม่หลับ การพลิกตัวไปมา ในบางครั้ง ที่นอนอาจดึงรั้งเสื้อผ้า ทำให้เรารู้สึกว่านอนไม่สบาย เมื่อเรารู้สึกเช่นนั้น การถอดเสื้อผ้าออกหมดช่วยได้ดีมาก และควรนอนใต้ผ้าห่ม เพื่อให้ร่างกายอบอุ่นและนอนหลับได้ง่ายขึ้น
    4.สวดมนต์ไหว้พระ และทำสมาธิก่อนนอนพักใหญ่ เพื่อให้จิตใจสงบขึ้น
    5. ท่านอนที่เหมาะสม
      -  นอนหงาย สองมือวางข้างลำตัว และปล่อยสบายๆ ไม่เกร็ง
      - นอนตะแคง โดยงอเข่าทั้งสองข้างให้เหลื่อมกันเล็กน้อย
      - นอนกึ่งควำ่หน้า งอขาด้านที่ไม่ติดพื้นไปด้านหน้า และงอเข่าเล็กน้อย โดยขาด้านบนงอมากกว่าด้านล่างที่อยู่ติดพื้น 
     ท่านอนเหล่านี้ล้วนเป็นท่านอนพักผ่อนที่ดี แต่ไม่ควรนอนเกร็ง และปล่อยให้ร่างกายผ่อนคลายตามธรรมชาติ ส่วนท่านอนควำ่ไม่เหมาะกับการนอนหลับครับ
    6. นอนนิ่ง ไม่เคลื่อนไหว ไม่ขยับแขนและขามากจนเกินความจำเป็น และเมื่อเราเริ่มจะลับ จะเริ่มรู้สึกชาบริเวณปลายมือและปลายเท้าก่อนส่วนอื่น เราเรียกว่า มือและเท้าหลับ หลังจากนั้น ร่างกายจะเริ่มหลับที่ท่อนแขนและขา และเข้าสู่การหลับทั้งตัว ในโรงเรียนการบินจะมีการสอนนักบินไม่ไห้ง่วงด้วยการสะบัดปลายมือและปลายเท้า และในทางกลับกัน ถ้าเราอยากหลับจริงๆ ควรหยุดการเคลื่อนไหวมือและเท้าสักครู่ จะพบว่า เราเข้าสู่อาการดังกล่าว และไม่ช้าเราจะเข้าสู่สภาวะของการนอนหลับทั้งตัวในที่สุด
  
Sleeping Technique
   1. The bedroom should have good ventilation, optimum temperature and keep silent.
   2. Darkness is necessary. But some colored light may enhance sleeping ie. light pink and light green. While red and blue light are sleep disturbing.
   3. Night gown should be loose. But some insomniac which has usually turn around and around on bed, the friction between night gown and mattress may disturb sleeping. Take them off and sleep in naked may help.
   4. Praying and doing some meditation before bed is another way to calm down the mind.
   5. The good sleeping positions are as following :
      - Lie face up
      - Lie on one side, knees bend
      - Lie semi-prone, the upper arm and upper leg placed in front, bend the knee and the elbow.
   6. Sleep still, do not move until falling asleep. The fact is that, before falling asleep, all extremities will 'asleep' first. That is to say, the sense of numbness on all extremities will come first before the 'body asleep'. Therefore, no move is the key to asleep.  
รูปภาพประกอบตอนนี้ยังไม่มีครับ อาจต้องรอหลังสงกรานต์ และคราวหน้าเราจะมาดูสาเหตุของการนอนไม่หลับกันครับ

วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2552

การฝึกปราณ เพื่อสุขภาพและร่างกายที่แข็งแรง


ปราณ เป็นคำที่หมายถึงพลังชีวิตของโลก แทรกซึมอยู่ทุกหนแห่งในธาตุทั้งสี่ ดิน นำ้ ลม ไฟ ในการฝึกโยคะจะกล่าวถึงปราณไว้ว่า มนุษย์จะได้รับปราณเพื่อเพิ่มพลังชีวิตและรักษาสุขภาพให้แข็งแรงได้สามทาง ได้แก่
1. พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นแหล่งกำเนิดของธาตุไฟ เรียกว่า สุริยปราณ
2.จากอากาศ โดยการหายใจ เรียก อากาศปราณ และวิธีการหายใจในการฝึกโยคะ เรียกว่า ปราณยามะ
3.จากพื้นดิน ได้จากการดื่มกินอาหารซึ่งมาจากดิน การมีชีวิตที่เท้าได้สัมผัสดิน เรียกว่า ปถพีปราณ
แนวความคิดสุขภาพองค์รวมอันเป็นพื้นฐานขั้นต้นของการมีสุขภาพดีเทียบกับปราณได้ดังนี้

อาหาร _โดยหลักของการฝึกร่างกายให้แข็งแรงตามหลักโยคะแล้ว จะรับประทานแต่พืช ผัก ผลไม้ และไม่ปรุง หรือปรุงให้น้อยที่สุด เพราะพลังชีวิตนั้นได้จากความสดของพืชผักต่างๆ อาหารจึงเป็นด่านแรกของการฝึกโยคะให้ได้ผลครับ ในอาหารมีปราณทั้งสามชนิดที่กล่าวมา เพราะพืชผักต่างๆ เกิดขึ้นมาได้เพราะมีการช่วยเหลือทั้งอากาศ ดิน และแสงแดด ผักและผลไม้จึงซึมซับปราณต่างๆเหล่านี้ไว้ และการฝึกโยคะจะรวมไปถึงการบริโภคที่พอประมาณ และเคี้ยวให้ละเอียด และควรดื่มนำ้บริสุทธิ์ วันละ 6-8 แก้ว
อากาศ_การฝึกปราณยามะ หรือวิธีการหายใจให้ถูกต้องตามหลักโยคะมีลักษณะสำคัญดังนี้
1. หายใจด้วยกล้ามเนื้อท้องและกระบังลม การหายใจเข้าท้องจะพอง หายใจออกท้องจะยุบ เรียกการหายใจ 2 จังหวะ แต่การฝึกในขั้นสูงจะมี 4 จังหวะ คือ หายใจออกสุดท้องแฟบ >> หายใจเข้าท้องพอง >> สูดลมออกจากท้องขึ้นสู่อกส่วนบน >> กลั้น >> พ่นลมทางปากหรือหายใจออกทางจมูกเบาๆ ช้าๆ
2. การหายใจมีสติ รู้สั้นยาวทุกขณะ ในการฝึกจะหายใจออกยาวกว่าหายใจเข้า และขณะฝึกจะต้องกลั้นหายใจเมื่อหายใจเข้าสุดแล้ว เริ่มต้น ควรฝึกกลั้นหายใจ 7 วินาที (โดยนับชีพจร หรือนับในใจ) แล้วผ่อนลมหายใจออกช้าๆ เบาๆ จนหายใจออกสุด
ในกรณีที่เรารู้สึกว่าอุณหภูมิในร่างกายสูง การหายใจที่ยาวและลึกจะควบคุมการทำงานของหัวใจได้ด้วยเช่นกัน ทำให้หัวใจเต้นช้าลงได้ กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงและอารมณ์ดีขึ้น สาเหตุเพราะออกซิเจนได้เข้าสู่กระแสเลือดอย่างเต็มที่ ทำให้เลือดมีประสิทธิภาพ มีการถ่ายออกซิเจนไปสู่เซลล์ สร้างเซลล์ให้แข็งแรง และนี่เป็นภูมิคุ้มกันโรคที่ดีอีกอย่างหนึ่ง โดยอาศัยการหายใจที่ถูกต้อง

วันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2552

เวลาและส่วนประกอบอื่นๆในการฝึกโยคะ


   ส่วนประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เราไม่ควรละเลยในการฝึกโยคะคือเวลา ครับ 
หลายคนที่ฝึกโยคะ คาดหวังว่า จะต้องฝึกโยคะได้จำนวนกี่ท่าในเวลาเท่านี้ เราแนะนำว่าไม่ควรจำกัดหรือเร่งรีบฝึกเพื่อให้ได้จำนวนท่ามากๆครับ
     เราเคยบอกกับคนที่มาเรียนบางกลุ่มเสมอว่า " นุ่มนวลแต่หนักแน่น " หลายคนฟังแล้วอาจสงสัยว่า ทำไมต้องเป็นแบบนั้น แต่ส่วนตัวแล้วเราคิดว่า คำนี้เหมาะสมครับ
การฝึกโยคะอย่างนุ่มนวล คือไม่เร่งรีบจนเกินไป แต่ขณะเดียวกัน เราก้ฝึกอย่างหนักแน่น คือ จะพยายามเน้นการฝึกที่ร่างกายได้ยืดหยุ่นตามที่ควรจะเป็น ซึ่งเท่ากับว่า เราควรให้เวลาในการฝึกแต่ละท่าพอสมควรครับ
เพราะคงไม่มีการฝึกที่รีบเร่งเพื่อเน้นจำนวนท่ามากๆแล้วได้ผลดีในโลกแห่งความเป็นจริงอย่างแน่นอนครับ เพราะเราจะทำท่าทางอย่างเร่งรีบ แต่ในด้านของสุขภาพแล้ว เท่ากับว่าเราไม่ได้อะไรมากมายจากการฝึกแบบนี้ 
     ที่่เขียนอธิบายมาค่อนข้างเยอะเพราะตอนนี้เราได้ปรับเปลี่ยนเวลาในการฝึกเพิ่มเป็น 1 ชั่วโมง กับอีก 15 - 20 นาที เพื่อจะได้มีเวลามากขึ้นในการฝึก และไม่ต้องคอยกังวลกับเวลาว่าน้อยไป เนื่องจากการฝึกโยคะที่เราสอนนั้น จะมีท่าฝึกอยู่ด้วยกันสามชุดครับ คือชุดท่านั่ง ท่านอน และท่ายืน

     ***สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ เราไม่มีการฝึกเป็นระดับ 1 - 2 - 3 อย่างที่หลายคนเข้าใจครับ มีแต่โยคะเพื่อสุขภาพครับ
     สุขภาพที่ดีย่อมหมายถึงอะไรอย่างอื่นที่ดีตามมาครับ ไม่ว่าจะเป็นจิตใจที่สดชื่น สมองปลอดโปร่ง มีความสามารถในการจดจำอะไรต่างๆได้ดี และคิดอะไรได้ละเอียดขึ้น ส่วนการฝึกให้ยากขึ้นนั้นคงต้องปรับเป็นบุคคลไปครับ เพราะเราทุกคนมีทุนของร่างกายมาไม่เท่ากัน ขีดความสามารถในการฝึกแต่ละท่าของทุกคนจึงไม่เท่ากัน อาศัยหลักการที่ว่าค่อยๆฝึกครับ